rot

rotsana

รสนา โตสิตระกูล จี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งสางปมท่อส่งก๊าซว่า ใครเป็นเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่แท้จริง พร้อมเผยผังกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนที่พยายามแปรรูป ปตท. รอบ 2

วันนี้ (16 สิงหาคม 2557) เมื่อเวลาประมาณ 09.06 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร โพสต์ภาพและข้อความลง เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ระบุว่า ขอขอบคุณเพจ “ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมันแพง” ที่ช่วยหาข้อมูลมายืนยันด้วยตัวเลข และเครือข่ายบุคคลที่มีส่วนร่วมในการขาย ปตท. ครั้งที่ 1 ว่าขณะนี้ กลุ่มบุคคลดังกล่าว ยังมีบทบาทในโรดแม็ปการขาย ปตท. รอบ 2 อีกด้วย

และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนก็เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อขอให้มีการชะลอมติ กพช. เรื่องแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่ออกไปก่อน จนกว่าจะสะสางข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่า ใครเป็น “เจ้าของ” ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่แท้จริง

สำหรับข้อความที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล โพสต์ลง เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล วันที่ 16 สิงหาคม 2557 มีรายละเอียด ดังนี้

ขอบคุณเพจ “ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมันแพง” ที่หาข้อมูลมายืนยันด้วยตัวเลข และ เครือข่ายบุคคลที่มีส่วนร่วมในการขาย ปตท. ครั้งที่ 1 และยังมีบทบาทในโรดแม็ปการขาย ปตท. รอบ 2 ในครั้งนี้ด้วย

ทำไม!! คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง ครั้งที่ 14

ประธาน ปตท., ปลัดกระทรวงพลังงานเดิม ที่ต้องร่วมรับผิดชอบเรื่อง Cayman คือ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ เคยได้รับเงินตอบแทนจากเครือ ปตท. ปีละ 10,051,344 บาท กลุ่มนายณอคุณฯ ปัจจุบันถูกเอาออกจากอำนาจและจากเครือ ปตท.

ประธาน ปตท. คนใหม่และบริวารซึ่งเป็นกลุ่มประโยชน์ทับซ้อนเก่า (2544) เช่น นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล และคนอื่น ๆ ที่ร่วมขาย ปตท. ของประชาชนครั้งที่ 1 ได้กลับเข้ามาครอบงำ คสช. ให้เห็นด้วยในการแบ่งขาย ปตท. ครั้งที่ 2 อีกครั้ง

ติดตาม !! กลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนนี้กำลังพยายามแปรรูป ขายสมบัติชาติ ครั้งที่ 2
(คำอธิบายประกอบภาพ)

และภาพพร้อมข้อความที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล โพสต์ลงเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล โพสต์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 มีดังนี้

“ท่อส่งก๊าซในทะเลต้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่สมบัติผลัดกันกินของธุรกิจเอกชน”

วันนี้( 15 สิงหาคม 2557) เครือข่ายภาคประชาชนที่จับตาการปฏิรูปพลังงานไทยไปยื่นหนังสือถึงประธาน คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก

หนังสือที่ยื่นมีใจความขอให้ประธาน คสช. ชะลอการมีมติกพช.เรื่องแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่ออกไปก่อน จนกว่าจะสะสางข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ว่าใครเป็น “เจ้าของ”ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน” ที่ ปตท. ครอบครองอยู่ก่อนที่ศาลตัดสินและมีคำสั่งให้คืนกลับมาให้กับรัฐมีอะไรบ้าง?

รวมทั้งกรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลที่ปตท.ยังคืนไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินตามมติ ครม. สมัยรัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550

ประธาน คสช. โปรดใช้อำนาจตรวจสอบกรณีนี้ เพราะนักการเมืองในทุกยุคที่มีกลุ่มทุนหนุนหลัง ไม่มีใครกล้าสะสาง เหลือแต่เพียง คสช. ที่ประชาชนคาดหวังให้มาเป็นผู้สะสางกรณีนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

สิ่งที่เครือข่ายประชาชนได้ทักท้วงการแยกระบบท่อส่งก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่และให้บมจ.ปตท.เป็นเจ้าของนั้น เพราะระบบท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งตามกฎหมายจะไม่สามารถนำมาซื้อขาย และไม่สามารถยกให้เอกชนเป็นเจ้าของได้

การแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทจะทำให้ สาธารณสมบัติที่รัฐเป็นเจ้าของทั้ง 100% จะถูกลดสัดส่วนลงตามการถือหุ้นของรัฐใน ปตท. ที่มีอยู่ 51% เป็นการเปิดช่องให้เอกชนอีก 49% เข้ามาฮุบสมบัติชาติ

ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการแบ่งแยกและนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ปตท.ครอบครองอยู่คืนให้รัฐตามคำสั่งศาล แต่หน่วยงานเหล่านั้นกลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ การปล่อยให้ บมจ.ปตท. ครอบครองท่อส่งก๊าซในทะเลไว้เพราะเหตุใด?

ดิฉันขอให้หน่วยงานเหล่านั้น ช่วยตอบคำถามดิฉันด้วยว่า “ท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่?” การวางท่อส่งก๊าซในทะเลต้องใช้อำนาจของรัฐหรือไม่? หรือเอกชนรายไหนก็วางท่อก๊าซได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจรัฐ? กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกฤษฎีกากล้าออกมาแถลงต่อสาธารณชนหรือไม่ว่า “ท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน”

ก่อนที่จะแปรรูป ปตท. รอบ 2 ให้เป็นเอกชน 100% โปรดถามประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศเสียก่อนว่ายอมหรือไม่?

โรดแม็ปการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนคือการแปรรูป ปตท. ให้เสร็จสมบูรณ์ต่อจากการแปรรูป ปตท. ครั้งที่ 1 เป็นการฟื้นคืนชีพของ “กลุ่มทุนที่นิยมแปรรูปสมบัติชาติ” ชุดเดิม ที่เคยตั้งสำรับผลประโยชน์การแปรรูป ปตท. ไว้ แต่ถูกทักษิณเข้ามาชุบมือเปิบไปเมื่อปี 2544 มาถึงวันนี้ได้โอกาสฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง หลังรัฐประหาร ที่เป็นช่วงเว้นวรรคของพรรคทักษิณ เลยรีบร้อนจะตั้งสำรับผลประโยชน์ในการแปรรูป ปตท. รอบ 2 ให้ได้ก่อนเลือกตั้งปี 2558 จะได้ไม่ถูกนักการเมืองจากการเลือกตั้งในอนาคต มาชุบมือเปิบอีกรอบ ใช่หรือไม่?

การปฏิรูปพลังงานของคนเหล่านี้ มีความหมายแค่การแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เป็นของเอกชน100% แค่นั้นหรือ?

หรือคือการโอนอำนาจรัฐที่เคยดูแลราคาพลังงานที่เป็นธรรมแก่ประชาชนไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากลไกตลาดเสรี (ภายใต้กลุ่มทุนผูกขาดพลังงาน) เท่านั้นหรือ?

การแปรรูปสมบัติชาติเป็นไปเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจของกลุ่มทุน หรือเพื่อความยั่งยืนของประชาชนกันแน่? ทั้งที่ก่อนหน้าการแปรรูป ปตท. รัฐวิสาหกิจนี้ได้กำไรมาโดยตลอด มีเงินส่งเข้ารัฐและประชาชนก็ได้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม เหมือนในมาเลเซีย

การลักไก่แปรรูปครั้งที่ 1 ก็ทำให้ประชาชนขมขื่นจากราคาน้ำมันแพง แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับกับการถูกมัดมือชกในการแปรรูปครั้งที่ 2 ด้วยข้ออ้างอันสวยหรูว่า “กลุ่มทุนมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ” ทั้งที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าประสิทธิภาพของบรรษัทพลังงานเอกชนนั้นก็คือ การแสวงหากำไรสูงสุด บนค่าใช้จ่ายสูงสุดของประชาชนนั่นเอง


ขอขอบคุณข่าวจาก