เกียร์ออโต้

เกียร์ออโต้

ทุกวันนีนี้หากคิดจะถอยรถสักคันหนึ่ง คนส่วนใหญ่คงเลือกรถยนต์ที่ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติเป็นหลัก เนื่องจากขับสบายกว่า ทันสมัยกว่า ถึงคราวต้องฝ่ารถติดก็ไม่ต้องคอยเลี้ยงคลัทช์ให้น่องปูดกันอีก แถมย้อนไปตอนหัดขับรถใหม่ๆ ก็เริ่มจากเกียร์อัตโนมัติเสียด้วยสิ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยที่จะคิดเช่นนั้น

ก็แหงสิครับ.. ถึงแม้ว่าการขับรถเกียร์ธรรมดาจะสนุกขนาดไหน แต่การต้องฝ่าการจราจรในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ๆในปัจจุบัน มันไม่สนุกเลยสักนิด ถ้ายังต้องคอยมากังวลเรื่องการเลี้ยงคลัทช์ ปล่อยคลัทช์ เปลี่ยนเกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว ฯลฯ มันก็ใช่เรื่องเสียที่ไหน การขับเกียร์ออโต้นั้นสบายกว่ากันเยอะ

ข้อดีของเกียร์ธรรมดาอย่างหนึ่งที่ไม่มีวันได้พบเจอในเกียร์ออโต้ในแง่ของความปลอดภัย (แม้จะเป็นข้อเสียสำหรับมือใหม่ก็ตามที) ก็คือ หากผู้ขับปล่อยคลัทช์ไม่สัมพันธ์กับคันเร่งในช่วงออกตัว จะทำให้เครื่องยนต์ดับทันที จึงตัดปัญหาการเข้าเกียร์ผิดหรือเหยียบคันเร่งโดยไม่ตั้งใจออกไปได้

ต่างกับเกียร์ออโต้ที่เมื่อเข้าเกียร์ ‘D’ (หรือเกียร์ ‘R’) แล้ว รถจะมีแรงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆแม้ไม่เหยียบคันเร่ง ซึ่งหากผู้ขับอยู่ในอารมณ์ตกใจ ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมาได้เสมอ

ดังนั้น เมื่อผู้อ่านรักที่จะใช้รถยนต์เกียร์อัตโนมัติแล้ว อย่าลืมปฏิบัติดังนี้เพื่อความปลอดภัย

– ควรเหยียบเบรกทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนเกียร์ แม้จะเลื่อนจากเกียร์ว่าง (N) ไปเกียร์เดินหน้า (D) หรือกลับกันก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อฝึกให้กลายเป็นความเคยชิน

– เมื่อเข้าที่จอดรถเสร็จเรียบร้อยทุกครั้ง ควรเปลี่ยนเป็นเกียร์จอด (P) หรือ เกียร์ว่าง (N) ทันที ไม่ควรใส่เกียร์ทิ้งเอาไว้

– ควรใส่เบรกมือทุกครั้งที่จอดรถเสร็จเรียบร้อย เพราะนอกจากจะลดภาระเกียร์ในการแบกรับน้ำหนักรถ (โดยเฉพาะบนทางลาดชัน) ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยหากเผลอใส่เกียร์โดยไม่ตั้งใจขึ้นมาจริงๆ

– การจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารทุกครั้ง เป็นไปได้ควรเข้าเกียร์ว่าง (N) เป็นอย่างน้อย รอจนกว่าผู้โดยสารจะปิดประตูเรียบร้อยเสียก่อน จึงค่อยใส่เกียร์ เนื่องจากผู้ขับอาจเผลอปล่อยเบรกในจังหวะก้มหยิบของ หรือเอี้ยวตัวไปด้านหลัง จนเป็นอันตรายกับผู้โดยสารที่กำลังขึ้น-ลงได้

– ไม่ควรทำหลายสิ่งพร้อมๆกันในขณะขับรถ เช่น คุยโทรศัพท์, แต่งหน้า, ทานอาหาร ฯลฯ หากติดพันกับสายโทรศัพท์มาก่อนหน้านี้ ก็ควรสนทนาให้จบเสียก่อนจะเริ่มออกรถ

แต่ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆ ผู้ขับควรรีบตั้งสติแล้วปล่อยคันเร่ง เหยียบเบรคทันที แล้วอย่าลืมว่ายังมีตัวช่วยอื่นๆเพื่อให้รถหยุดหรือชะลอความเร็วลงได้ นั่นคือ การผลักไปคันเกียร์ไปเกียร์ว่าง (N), การดึงเบรกมือ รวมถึงการบิดกุญแจเพื่อดับเครื่องยนต์ แต่อย่างหลังนี้ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะทำให้หม้อลมเบรกใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้มีโอกาสเหยียบได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดเมื่ออยู่หลังพวงมาลัยทุกครั้ง นั่นคือ ‘สติ’ ที่จะช่วยให้เดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง


ขอขอบคุณข่าวจาก