ไพบูลย์

ไพบูลย์

6 พฤษภาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าการจะทำประชามติหรือไม่นั้น ให้เป็นหน้าที่ของ คสช. และ สปช. ตัดสินใจ ซึ่งตนมองว่านายกฯ คงให้แสดงความเห็นเพื่อเสนอให้ คสช. หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ เพราะการทำประชามติต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดย 2 องค์กรนี้เป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไข

สำหรับตนเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องการทำประชามติ เมื่อ สปช. เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ควรเขียนในบทเฉพาะกาลว่า เมื่อประกาศใช้แล้วภายใน 90 วันต้องจัดให้มีการลงประชามติข้อเสนอนี้จะไม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อ คสช. เพราะไม่ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2557 เพราะหากมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ ก็จะมีการวิจารณ์ทุกประเด็นว่าจะทำประชามติในรูปแบบใด ในที่สุดก็จะไปเกี่ยวข้องกับการที่รัฐธรรมนูญนั้น คสช. ได้เห็นชอบ รวมไปถึงโรดแม็ปที่จะเคลื่อนไปด้วย

ทั้งนี้ยังมีประเด็นว่าจะทำประชามติแบบไหน เมื่อมีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้วจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็จะถูกกล่าวหาอีกว่าต้องการอยู่ในอำนาจต่อ แต่ถ้าเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 มาใช้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ เสียของ ไม่อย่างนั้นจะมาร่างใหม่ทำไม ตนจึงคิดว่าวิธีที่เสนอไป คสช. ไม่ต้องทำอะไรแต่ท้ายสุดก็จะมีการทำประชามติ

อย่างไรก็ตาม ถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่านก็จะส่งผลให้โรดแม็ปในการจัดการเลือกตั้งเคลื่อนอยู่ดีนั้น คสช. ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นมติของประชาชน ซึ่งในการประชุมวันที่ 29 พ.ค. 58 นี้ ตนจะเสนอให้มีการเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลว่า ให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ 90 วัน ก่อนทำประชามติ ยกเว้นมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้งและภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง


ขอขอบคุณข่าวจาก