วิธีเสริมสิริมงคลในการแต่งงาน

วิธีเสริมสิริมงคลในการแต่งงาน

พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน

          นอกจากพิธีแห่ขันหมากหรือรดน้ำสังข์แล้ว ยังมีอีกพิธีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทยที่หลายๆ ท่านอาจจะลืมนึกถึงกันไป ด้วยความที่วัฒนธรรมและสังคมปัจจุบันเน้นความสะดวกสบายเข้าว่า บางพิธีการที่อาจจะไม่สะดวกทั้งจากคู่บ่าวสาว หรือด้วยสถานที่ พิธีกรรมบางอย่างจึงถูกลดทอนลง และนี่ก็เป็นอีก 2 พิธีการเกี่ยวกับการแต่งแบบไทยที่น่าสนใจที่คนไทยยุคใหม่อาจจะลืมเลือนไป นั่นคือ พิธีส่งตัวเข้าหอ และพิธีปูที่นอนหรืออีกชื่อหนึ่งคือ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน

พิธีส่งตัวเข้าหอ

          พิธีการส่งตัวเข้าหอนั้น หลักๆ แล้วจะประกอบด้วย 2 พิธีด้วยกัน นั่นคือ พิธีส่งตัวเข้าหอ และพิธีปูที่นอน ซึ่งสมัยนี้มีหลายแห่งที่ถึงแม้จะจัดงานแต่งงานตามธรรมเนียมไทย แต่ก็ลดขั้นตอนพิธีเข้าหอลง อาจเป็นเพราะบางครั้งงานแต่งงานไม่ได้จัดที่บ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จัดในสถานที่จัดงานอื่นๆ ครั้นจะวิ่งวุ่นหนีแขกเหรื่อจากงานเลี้ยงฉลองเพื่อกลับมาทำพิธีเข้าหอที่บ้านเจ้าสาว (หรือบ้านเจ้าบ่าว) ก็จะเป็นไปได้โดยลำบาก คู่บ่าวสาวบางรายที่เรือนหอยังสร้างหรือตกแต่งไม่เสร็จ ไม่รู้จะจัดพิธีเข้าหออย่างไร หรือกรณีที่ส่วนมากจัดงานเลี้ยงฉลองกันในโรงแรม โดยเจ้าบ่าวสาวพักค้างคืนเสียเลยในโรงแรมนั้น พิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าหอก็อาจยุ่งยากเกินกว่าจะเตรียมการได้อย่างครบถ้วน

          ในส่วนของพิธีนั้น ผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวเข้ามาส่งตัวในห้องหอซึ่งเจ้าบ่าวเข้ามาคอยอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เข้ามาพร้อมๆ กัน การส่งตัวไม่มีอะไรซับซ้อน ส่วนสำคัญของพิธีอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ซึ่งทำพิธีปูที่นอนนั้นพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอ เจิมหน้าผากอวยพร จากนั้นค่อยนำเจ้าสาวเข้าห้องหอตามมา โดยเจ้าสาวต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร เมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องหอแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นผู้พามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าว

          นอกจากนี้ ในพิธีการส่งตัวเข้าหอยังมีความเชื่อในเรื่องของการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วย ดังนี้

           1. กราบขอพรกับพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคู่ชีวิต

           2. กราบพระแก้วมรกต, รัชกาลที่ 5, เจ้าแม่กวนอิม , พระประจำเมือง ให้คุ้มครองชีวิตคู่ให้อยู่เย็นเป็นสุข จนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร

           3. กราบ 6 ทิศ เสริมดวงและความเชื่อต่างๆ
              - ทิศตะวันออก บอกบิดามารดาให้พร
              - ทิศใต้ บอกครูบาอาจารย์ให้เจริญขึ้น
              - ทิศตะวันตก บอกสามี ภรรยา อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน
              - ทิศเหนือ บอกมิตรสหายให้ช่วยเหลือกัน
              - ทิศเบื้องบน บอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภิกษุ สามเณร ให้คุ้มครอง
              - ทิศเบื้องล่าง บอกให้บ่าวไพร่ให้เป็นบริวารที่ดี

พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน หรือพิธีปูที่นอน

           การทำพิธีก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอคืนส่งตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวต่อไปในอนาคต ในสมัยก่อนนั้นพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาซึ่งชีวิตครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม อีกทั้งยังมีบุตรที่เป็นคนดี สร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัว เพื่อถือเคล็ดว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้ต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามดีก่อน แล้วจึงเข้ามาในห้องหอเพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี ไม่จำเป็นต้องปูที่นอนเองทั้งหมดจริงๆ ก็ได้ จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอนอันได้แก่

         1. หินบดยาหรือหินก้อนเส้าซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น
         2. ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
         3. แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
         4. พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนหมายถึงความเจริญงอกงาม
         5. ขันใส่น้ำฝน เป็นความเย็น ความสดชื่นชุ่มฉ่ำ

           ซึ่งพิธีร่วมเรียงเคียงหมอนนั้นในปัจจุบันอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าในอดีต หลงเหลือเพียงการทำแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะก่อนวันแต่งงานส่วนมากได้มีการจัดเตรียมของทุกอย่างไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พอได้ฤกษ์ท่านทั้งสองจะจัดที่นอน และหยิบเอาเครื่องพิธีปูที่นอนซึ่งเตรียมไว้แล้วรวมกับดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เฒ่าแก่จะหยิบเอาถั่วงา และดอกไม้มาโปรยบนที่นอนแล้วขึ้นไปนอนบนเตียง เรียกว่าฤกษ์เรียงหมอน ผู้ชายนอนทางขวาของผู้หญิง แล้วทำเป็นหลับไปสักครู่จึงทำเป็นตื่นนอนแล้วสนทนากันด้วยเรื่องที่เป็นมงคล กล่าวว่านอนหลับฝันดีฝันเห็นแต่สิ่งที่เป็นมงคล แล้วจึงลุกขึ้นมาจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นนอนบนเตียง กล่าวให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว รวมถึงการให้โอวาทในการครองเรือน แล้วจึงออกมาจากห้องหอ ส่วนพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็มักจะฝากฝังให้ฝ่ายชายช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองลูกสาวของตนเอง และถ้ามีสิ่งใดบกพร่องก็ขอให้เจ้าบ่าวให้อภัย เมื่อพ่อแม่ให้พรต่างๆ แล้วก็จะออกไปจากห้อง

          และเนื่องจากวัฒนธรรมไทยมีความเชื่อในเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ จึงมีความเชื่ออีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือความกตัญญู โดยเชื่อกันว่าการเนรคุณต่อผู้ที่ปูที่นอนให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว จะทำให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมีอันเป็นไป ซึ่งจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่นัยความจริงอยู่ที่ว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้ปูที่นอนให้นั้น ย่อมถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่อง ควรเคารพนับถือของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย หากเจ้าบ่าวเจ้าสาวกระทำการเนรคุณ แสดงให้เห็นว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นคนอกตัญญู มีพฤติกรรมที่ไม่ดีงาม ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง คู่บ่าวสาวประเภทนี้ย่อมไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากพฤติกรรมของเอง สังคมจะติฉินนินทา เหตุเพราะผู้ที่จะทำเช่นนั้นได้สังคมถือว่าเป็นพวกจิตใจไม่งาม ลืมความดีของผู้มีพระคุณที่ตนเองและวงศ์ตระกูลยกย่อง เมื่อประพฤติเนรคุณเช่นนี้แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไรก็คิดเอาก็แล้วกัน ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ต้องระมัดระวังกันสุดๆ ไม่ให้เกิดกรณีนี้ เพราะความจริงคือพ่อแม่นั่นแหละจะเป็นผู้เชิญ ถ้าเพิกเฉยปล่อยให้มีเหตุการณ์เนรคุณเกิดขึ้นอาจถูกเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดี เป็นผู้เนรคุณคนไปด้วย เพราะสั่งสอนลูกไม่ดี

          อย่างไรก็ตาม พิธีเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้น การใช้ชีวิตคู่จำเป็นจะต้องมีอีกหลายสิ่งที่ควรยึดมั่นทั้งความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ รวมถึงการให้อภัย ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณกลายเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ





 




 

Bookmark and Share


:: ผู้หญิงมาใหม่























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

(ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]