ฝึกมารยาทลูกน้อยบนโต๊ะอาหาร

ฝึกมารยาทลูกน้อยบนโต๊ะอาหาร

อีกครั้งที่ใช้นิ้วละเลงสปาเกตตีแสนอร่อยที่คุณแม่ปรุงอย่างสุดฝีมือ ไม่เพียงเท่านั้น คุณลูกตัวดียังเอามือหยิบเส้นสปาเกตตีเข้าปากเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด

แต่ที่ร้ายไปกว่าอะไรทั้งหมด ก็ตอนที่เจ้าตัวเล็กทำเส้นสปาเกตตีกระเด็นใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวของคุณพ่อที่กำลังนั่งกินข้าวอยู่ใกล้ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้สงสัยโปรแกรมที่จะพาลูกรักไปฉลองปีใหม่กินข้าวบ้านเจ้านายคงต้องยกเลิกไปแน่ๆ

ช้าก่อนค่ะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องยกเลิกโปรแกรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่จะพาลูกน้อยไปกินข้าวนอกบ้านก็ได้ หากว่าฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหารให้ลูกตัวน้อยตั้งแต่หนูน้อยเริ่มนั่งรับประทานอาหารบนเก้าอี้สูงสำหรับเด็ก (High Chair) ได้ โดยขั้นตอนง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากให้ลูกรักนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับคุณด้วย เพื่อที่ลูกจะได้เห็นมารยาทที่ถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่ วิธีการทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างนั้นน่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลดี โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มตั้งแต่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนส้อมตักอาหารอย่างสุภาพ กล่าวขอบคุณทุกครั้งที่มีคนตักอาหารให้ ไม่อ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ขณะรับประทานอาหาร อย่างนี้เป็นต้น แน่นอนว่าเจ้าตัวเล็กที่มักจะต้องการทำให้คุณพอใจ เขาจะจดจำพฤติกรรมของคุณและปฏิบัติตาม

เมื่อลูกน้อยเริ่มปฏิบัติตามสิ่งที่คุณแสดงให้เขาเห็น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรชื่นชมลูกน้อยมากจนเกินไป เพราะวิธีนั้นอาจจะทำให้ลูกคิดว่าเขาเป็นศูนย์กลางของความสนใจทุกครั้งที่ถึงเวลาอาหาร และที่สำคัญก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะแสดงมารยาทที่เหมาะสมบนโต๊ะอาหารได้ในเวลาอันสั้น เพราะบางครั้งลูกน้อยวัยนี้ก็ยังสนุกสนานกับอาหารที่หยิบกินง่ายแสนอร่อย (Finger Food) แต่อย่างไรก็อย่าละความพยายามนะคะ

ระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่กำลังพยายามสอนเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารให้กับเจ้าตัวเล็ก ก็คงจะมีบางครั้งที่ลูกยังคงทำความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง และถ้าเป็นอย่างนั้นคุณก็มีทางเลือกอยู่สองประการ คือ หนึ่งทำเป็นไม่สนใจพฤติกรรมเหล่านั้น ไม่ว่าลูกจะหว่านข้าวไปทั่วโต๊ะ ส่งเสียงกรี๊ด หรือคายข้าวทิ้งในชาม คุณพ่อคุณแม่ก็เฉยเสีย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดลูกก็จะเลิกพฤติกรรมดังกล่าวไปเอง เมื่อเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากคุณได้ ประการที่สอง คือ หาทางแก้ไข เช่น เช็ดปากให้ลูกทุกครั้งที่เขาบ้วนอาหารออกมาเลอะปาก จนหนูน้อยหยุดบ้วนอาหารไปเอง หรือเมื่อเขาใช้มือหยิบอาหาร ก็จับช้อนใส่ในมือของลูก ในขณะเดียวกันพ่อแม่บางครอบครัวก็จะพาลูกน้อยออกจากโต๊ะอาหารเพื่ออธิบายถึงกิริยาที่ไม่เหมาะสมของเจ้าตัวเล็ก

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในการฝึกให้ลูกน้อยมีมารยาทบนโต๊ะอาหาร คงหนีไม่พ้นความเข้าอกเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ท้ายสุดก็ขอส่งความปรารถนาดีถึงทุกครอบครัวในช่วงเวลาของเทศกาลแห่งความสุขนี้ด้วยนะค่ะ

 





 




 

Bookmark and Share


:: ผู้หญิงมาใหม่























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

(ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]