ใจสั่น....ความรู้สึกที่ไม่ธรรมดา

ใจสั่น....ความรู้สึกที่ไม่ธรรมดา

 

      หลายวันก่อนผมมีโอกาสได้ไปพบปะสังสรรค์และแสดงมุทิตาจิตกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านในงานเกษียณอายุราชการ บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานและซาบซึ้งใจ ขณะเดียวกันก็ระคนไปด้วยความเศร้าและความหดหู่ ช่วงหนึ่งพิธีกรบนเวทีได้เปิดโอกาสให้ผู้เกษียณขึ้นมาแสดงความในใจและความรู้สึกในโอกาสที่จะได้หยุดพักหลังจากทำงานมายาวนานเกือบตลอดชีวิต ผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่จะบอกว่ารู้สึกเศร้าและเสียดายที่ต้องหยุดทำงาน มีคำหนึ่งที่ทุกท่านกล่าวเหมือนๆ กันคือรู้สึก “ใจหวิว” หรือ “ใจสั่น” ที่ต้องเกษียณอายุราชการ ซึ่งทำให้ผมคิดถึงผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างช่วยไม่ได้

      เพราะโดยปกติหมอโรคหัวใจอย่างผมจะได้ยินผู้ป่วยที่มาหาเล่าถึงอาการให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า “ใจหวิว” บ้าง “ใจสั่น” บ้าง ซึ่งบางครั้งอาการเหล่านี้เป็นเพียงความรู้สึกครับ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่เราออกแรงหรือออกกำลังกายหนักมา เราอาจจะมีความรู้สึกว่าหัวใจของเรากำลังเต้นหรือบีบตัวอย่างแรง หรือหลายๆ ท่านอาจจะชอบไปชมคอนเสิร์ตหรือไปอยู่ตามคลับ ผับ เธค (สุดแท้แต่จะนิยมหรือเรียกครับ) ที่มีการเปิดเพลงหรือดนตรีเสียงดัง บ่อยครั้งท่านผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนกับว่า หัวใจของท่านเต้นตามจังหวะของเพลง หรือดนตรี หรือจังหวะของกลองเหล่านั้น นี่แหละครับคือตัวอย่างของอาการ “ใจสั่น” ที่เป็นความรู้สึก ซึ่งอาการ “ใจสั่น” จำพวกนี้ อาจเกิดขึ้นร่วมกับอารมณ์ก็ได้ เช่น อารมณ์ดีใจสุดขีด เสียใจสุดขีด สนุกสุดขีด หรือแม้แต่ตกใจสุดขีด อาการ “ใจสั่น” เหล่านี้ไม่อันตรายครับ และแค่ปรับอารมณ์ให้พอเหมาะ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็เป็นปกติแล้วแหละครับ

     ต่างกับความรู้สึก “ใจสั่น” ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติโดยตรงของหัวใจที่เป็นเรื่องใหญ่ และอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ครับ

      ปกติระบบประสาทอัตโนมัติจากสมองและหัวใจห้องบนจะสั่งการให้หัวใจมีการเต้นอย่างสม่ำเสมอในอัตรา 60-100 ครั้งต่อนาที โดยถ้าเรานอนหลับสนิทอัตราเต้นของหัวใจอาจน้อยลงกว่า 60 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าเรามีกิจกรรมหรือออกแรงกำลังมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นอัตราที่สม่ำเสมอคือ มีช่วงห่างหรือช่วงเว้นของจังหวะการเต้นของหัวใจที่เท่ากัน ซึ่งจะตรวจวัดได้จากการคลำชีพจร การฟังเสียงเต้นของหัวใจ หรือจากการตรวจด้วยกราฟไฟฟ้าหัวใจที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “ECG” แต่หากจังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ มีช่วงจังหวะการเต้นถี่ห่างที่ไม่เท่ากัน เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า อันนี้ไม่ปกติครับ เพราะจะส่งผลอันตราย และอาจร้ายแรงถึงชีวิตด้วย

       โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยๆ ในผู้สูงอายุคือ atrial fibrillation ที่เรียกสั้นๆ ว่า AF เกิดจากการที่หัวใจห้องบนปล่อยสัญญาณกระแสไฟฟ้าควบคุมการเต้นของหัวใจผิดปกติไป ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เร็วบ้างช้าบ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเร็ว) เร็วมากจนบางครั้งรู้สึกว่า “ใจสั่น” โดยมีสาเหตุมากมายที่ทำให้หัวใจห้องบนปล่อยสัญญาณที่ผิดปกติ ที่พบบ่อยๆ ก็อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน โรคลิ้นหัวใจผิดปกติไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือแม้กระทั่งอายุที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ ผู้ป่วยที่เป็น AF จะมีอาการใจสั่นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้การที่หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอก็จะส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจไปยังอวัยวะต่างๆ ผิดปกติไปด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง วูบเวียน หรือเป็นลมหมดสติได้ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หรือบวมจากภาวะน้ำท่วมปอดได้

      นอกจากนี้การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ จะส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการตกตะกอนของเม็ดเลือดภายในหัวใจห้องบนที่นิยมเรียกว่า “ลิ่มเลือด” ด้วย ซึ่งลิ่มเลือดนี่เองครับที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยต้องระวังกันให้มาก เพราะหากลิ่มเลือดหลุดลอยออกไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดง ซึ่งหากลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันที่เส้นเลือดในสมองจะโชคร้ายมาก เพราะนั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะกลายเป็นผู้ทุพลภาพและเป็นอัมพาตในที่สุด ถึงจุดนี้ถ้าท่านผู้อ่านพบว่า ตัวเองหรือบุคคลที่ท่านรักมีอาการ “ใจสั่น” ที่ไม่ใช่แค่เพียงความรู้สึก ควรจะรีบหาเวลาไปพบแพทย์นะครับ ไม่ควรปล่อยปละละเลยจนเสียการ เพราะเดี๋ยวนี้มีวิธีการรักษาใหม่ๆ มากมายที่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นตรงตามจังหวะสม่ำเสมอได้ รวมถึงมียาใหม่ๆ มากมายที่ใช้ในการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ

       เห็นหรือไม่ว่า “ใจสั่น” จากความรู้สึกของผู้เกษียณอายุราชการ อาจเป็นอาการแสดงที่สำคัญของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ได้นะครับ ดังนั้นเรามาช่วยกันปลอบประโลมและช่วยกันดูแลผู้เกษียณอายุราชการ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือผู้ที่เข้าสู่วัยสูงอายุไม่ให้มีอาการ “ใจหวิว” หรือ “ใจสั่น” ทั้งในแง่ของความรู้สึกและในแง่ของความเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายกันนะครับ

       ทำงานหนักกันมาทั้งชีวิต ยังไงก็อย่าลืมดูแลหัวใจของท่านกันบ้าง





 




 

Bookmark and Share


:: ผู้หญิงมาใหม่























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

(ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]