ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากชาวประมง บ้านคลองกรวด ม.6 ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า ชาวประมงจับปลารูปร่างหน้าตาประหลาดขนาดใหญ่ได้ ชาวบ้านเดินทางไปดูกันเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่า ชาวประมงที่พบปลาดังกล่าว คือ นายประเสริฐ ชูกูล อายุ 33 ปี จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบนายประเสริฐได้นำปลาตัวดังกล่าวขึ้นจากเรือ ที่บริเวณท่าเทียบเรือหลังบ้าน พบชาวบ้านกำลังยืนมุง ดูปลาตัวขนาดใหญ่ วางบนตาชั่ง น้ำหนัก 2.7 กิโลกรัม ยาว 42 เซนติเมตร ลำตัวลักษณะลายจุดขาวคล้ายปลาเก๋า แต่ส่วนหัวมีลักษณะแปลกออกไป ตา 2 ข้างตั้งอยู่ด้านบนหัว มีปากใหญ่และหนา เปิดด้านบน ริมฝีปากบน และครีบหางมี 3 แฉก

นายประเสริฐ เล่าว่า ตนพบปลาตัวดังกล่าว เมื่อวานนี้หลังจากที่ออกไปวางอวนดักปูม้าที่บริเวณเกาะบงบง ต.เขาทอง ห่างจากท่าเรือประมาณ 20 กก. ขณะที่ตนและลูกเรือกำลังสาวอวนขึ้นมา รู้สึกว่าอวนหนักมากเมื่ออวนโผล่พ้นน้ำก็ต้องตกใจเมื่อเห็นตัวปลาหน้าตาประหลาดน่ากลัว ไม่เคยเห็นมาก่อน แทบจะวางอวนลง แต่ด้วยความอยากรู้ว่าเป็นปลาอะไรกันแน่ จึงนำกลับมาบ้าน

new

 

นายประเสริฐกล่าวว่า พอไปสอบถามชาวประมงเก่าแก่ในหมู่บ้านก็ไม่มีใครรู้จัก และไม่เคยเห็น จึงไม่กล้านำไปประกอบอาหาร เพราะหน้าตาคล้ายคนมาก เปลือกปากใหญ่ แต่ไม่มีฟันแม้แต่ซี่เดียว
ขณะที่นายยู่โสบ ชูกูล อายุ 80ปี กล่าวว่า ตั้งแต่ตนทำประมงมานานกว่า 50 ปี จนขณะนี้อายุ 80 ปีแล้วยังไม่เคยพบเห็นปลาในลักษณะดังกล่าว

ต่อมา ดร.ทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามัน(ภูเก็ต) ออกมาเปิดเผยว่า ปลาชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่าปลาอุก แต่ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นอาจเรียกไม่เหมือนกัน บางพื้นที่เรียกปลาอุก หรือปลาอุบยักษ์ ซึ่งพบเห็นได้ในทะเลประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ประชากรปลาจำพวกนี้มีน้อยมาก จึงไม่มีใครสังเกต แต่ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ขณะที่ข้อมูล จาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ปลาชนิดนี้ เรียกว่าปลาอุบยักษ์แต้มขาว หรือปลาอุบยักษ์เอเชียตะวันออก เป็นปลาทะเลชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดย ดร.วีระ วิลาศรี นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา รวมทั้งนักวิจัยชาว ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งได้ตีพิมพ์บรรยายลักษณะในวารสารวิชาการ Zoo taxa เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ2562 ปลาชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ichthyscopus pollicaris โดยชื่อชนิด “pollicaris” มาจากภาษาละตินหมายถึง “นิ้วหัวแม่มือ” ซึ่งอนุมานใช้เทียบเคียงตำแหน่งเดียวกันกับก้านครีบอกแรกบนสุด (Uppermost pectoral ray) ของปลาชนิดนี้ที่มีลักษณะเด่นของแต้มสีขาวปรากฏอยู่

ปลาอุบยักษ์แต้มขาวจัดจำแนกอยู่ในสกุล Ichthyscopus วงศ์ Uranoscopidae เป็นปลาที่มีรูปแบบการดำรงชีวิตพิเศษโดยฝังลำตัวและหัวไว้ใต้พื้นทรายโพล่เพียงตาและปากเพื่อดักจับเหยื่อที่เป็นปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่ว่ายผ่านมาใกล้

ลักษณะสัณฐานมีหัวโตห่อหุ้มด้วยกระดูกแข็งผิวขรุขระ ลำตัวยาวแบนข้างเล็กน้อย ตาตั้งอยู่ด้านบนหัว ปากเปิดด้านบน ริมฝีปากบนและล่างมีแถบซี่ติ่งเนื้อสำหรับกรองทรายหรือโคลนไม่ให้เข้าปาก โพรงจมูกเชื่อมต่อกับช่องปากช่วยระบบหายใจโดยให้น้ำผ่านเข้าปากได้มากขึ้น ทำให้ปลาสามารถกบดานใต้พื้นทรายได้เป็นเวลายาวนาน มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร


ขอขอบคุณข่าวจาก