new

ตลาดปลาสวยงามศรีบ้านโป่งมาร์เก็ต “ฟิช วิลเลจ” เมืองราชบุรี สร้างรายได้ปีละ 600 ล้าน ผนึกผู้เลี้ยง 1,700 ราย เร่งพัฒนาคุณภาพ-เปิดตลาดใหม่ พร้อมเตรียมตะลุยโรดโชว์ญี่ปุ่น ยุโรป มะกัน หวังลดการพึ่งพาตลาดกลางสิงคโปร์ ฮ่องกง ด้านกรมประมงลั่นปีหน้าจัดเอ็กซ์โปปลาสวยงามครั้งแรก ดึงเอเย่นต์เจรจาธุรกิจ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ประธานกรรมการบริหารตลาดกลางปลาสวยงามศรีบ้านโป่งมาร์เก็ต หรือฟิช วิลเลจ (Fish Village) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ฟิช วิลเลจเป็นตลาดปลาสวยงามที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ โดยจำหน่ายในประเทศ 80% และส่งออก 20% สร้างรายได้ปีละประมาณ 600 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 25% ของมูลค่าตลาดปลาสวยงามรวมทั้งประเทศ 3,000 ล้านบาท

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดกลางสิงคโปร์และฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา แนวโน้มความต้องการสูงขึ้นทั้ง 3 ตลาดนี้หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่อำเภอบ้านโป่งประมาณ 1,700 ราย พันธุ์ปลาที่มีความต้องการมาก คือปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี ปลาคาร์ป ปลามังกร และปลาสอด

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาได้ร่วมกับฟิช วิลเลจจะออกไปทำตลาดในญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา รวมทั้งเตรียมแผนที่จะดำเนินการส่งออกเอง โดยไม่พึ่งพาตลาดกลางสิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่หากส่งออกเองจะได้ราคาสูงกว่า 30-40% ทำให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น

“จากนี้ไปจะทำการตลาดเชิงรุกด้วยตัวเอง ผนึกเกษตรกรสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับผู้เลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ เพราะราชบุรีมีศักยภาพในการผลิตปลาสวยงาม และจะเร่งยกระดับเกษตรกรทั้งระบบการเลี้ยง การตลาด ในช่วง 2-3 ปีนี้ตั้งเป้าอุตสาหกรรมปลาสวยงามในไทยจะมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยราชบุรีจะมีรายได้ 50% หรือ 5,000 ล้านบาท” นายนภินทรกล่าวและว่า

ในช่วงต้นปี 2558 จะนำเกษตรกรที่มีศักยภาพในระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) ไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น พร้อมทั้งจะมีการเจรจาการค้ากับเอเย่นต์ คาดว่าจะสามารถเปิดตลาดญี่ปุ่นได้ช่วงกลางปี 2558 หลังจากนั้นจะไปโรดโชว์ที่ยุโรป อเมริกา เน้นเปิดตลาดใหม่ในเยอรมนีและสเปน

อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกปลาสวยงามมากเป็นอันดับ 7 ของโลก ส่วนผู้นำตลาดในขณะนี้คือประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งปัจจุบันคู่แข่งได้มีการเพาะสายพันธุ์ใหม่ให้มีความหลาก สีสันสวยงาม แข็งแรงทนทานต่อโรคและสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาการเลี้ยงปลา

ด้านนายชนินทร์ แสงรุ่งเรือง ประมงจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามในจังหวัดราชบุรี 400 รายที่ผ่านมาตรฐาน GAP หลังจากนี้จะเดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรที่เหลือกว่า 1,300 ราย ให้พัฒนาระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ได้ เนื่องจากในอนาคตการแข่งในตลาดโลกจะมีความรุนแรง

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า เตรียมจัดงานเอ็กซ์โปปลาสวยงามเป็นครั้งแรกในปี 2558 เพื่อสร้างการรับรู้เปิดตลาด โดยจะดึงเอเย่นต์จากประเทศคู่ค้าในญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เข้ามาเจรจาซื้อขาย หากการจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จจะเพิ่มความถี่ในการจัดงานกระตุ้นตลาดให้คึกคักต่อไป


ขอขอบคุณข่าวจาก