ประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยรถยนต์ ประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ




การประกันภัย คืออะไร?

การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยแบบหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย ไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหาย หรือเกิดภัยขึ้น บริษัทประกันภัยที่รับประกัน จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่ได้รับความคุ้มครอง ในกรมธรรม์ประกันภัย ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัย จะต้องเสียเบี้ยประกันภัย ให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้

การประกัน (Insurance) มี 3 ส่วน คือ

1. ผู้รับประกัน (Insurer) คือบริษัทประกัน
2. ผู้เอาประกัน (Insured) หรือผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder) คือผู้ทำประกัน
3. ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ ภรรยา บุตร

การประกัน จักต้องผ่านกระบวนการพิจารณารับประกัน (Underwriting) เพื่อผู้รับประกัน จักประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าของ บุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพทย์สิน นั้น ๆ พร้อมกำหนด รายละเอียดความคุ้มครอง และค่าเบี้ยประกัน ผู้รับประกันอาจรับประกัน โดยแบ่งความเสี่ยงมาส่วนหนึ่ง หรือ ปฏิเสธ หากความเสี่ยงนั้นไม่อาจรับได้ หรือ ผู้รับประกันอาจรับประกันโดยเพิ่มอัตราเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การทำประกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่สัญญาต่างมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่อกัน ผู้รับประกัน จักต้องคุ้มครองผู้เอาประกัน ตามรายละเอียดในสัญญาเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครอง ผู้เอาประกันก็มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกัน ตามที่ระบุในสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การทำประกันจุดประสงค์แท้จริง เพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนโดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร

รูปแบบการประกันภัย

แบบประกันมาตรฐาน แบ่งออกเป็นสองสายหลัก
1. การประกันชีวิต (Life Insurance) การประกันชีวิต หมายรวมถึง การประกันต่อความสูญเสีย เสียหายอันจะเกิดแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยสัญญาจักชดเชยเมื่อมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ (Accident and dismemberment), การประกันกรณีทุพพลภาพ (Total Disability) , หรือ การประกันสุขภาพ (Health Insurance)

2. การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) การประกันวินาศภัยแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือการประกันอัคคีภัย (Fire Insurance), การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance), การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance), และ การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous/Casualty Insurance)

รูปแบบการประกันวินาศภัย

- การประกันภัยรถยนต์
- การประกันอัคคีภัย
- การประกันภัยทางทะเล
- การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

ประโยชน์ของการประกันภัย

การประกันภัย นอกจากจะให้ประโยชน์โดยตรง ในด้านการให้ความคุ้มครองการเสี่ยงภัย หรือการลดและบรรเทาความเสียหาย ให้กับผู้ประสบภัยแล้ว การประกันภัยยังให้ประโยชน์ทางอ้อมหลายประการ ดังต่อไปนี้

1. ก่อให้เกิดเสถียรภาพในการประกอบธุรกิจ
2. ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ
3. การประกันภัยเป็นรากฐานสำคัญของระบบสินเชื่อ
4. การประกันภัยช่วยป้องกันภัย ช่วยป้องกันความเสียหาย
5. การประกันภัยส่งเสริมการออมทรัพย์
6. การประกันภัยช่วยให้การคำนวณต้นทุนใกล้เคียงต่อความเป็นจริง

การเสี่ยงภัยที่อาจเอาประกันภัยได้

1. จำนวนของการเสี่ยงภัย ที่มีสภาพและลักษณะคล้ายคลึงกัน จะต้องมีจำนวนมากพอ ทั้งนี้ เพราะหลักของการประกันภัยขึ้นอยู่กับกฎว่าด้วยจำนวนมาก (Law of Large Number) ซึ่งมีหลักว่าถ้าจำนวนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง มีจำนวนมากแล้ว ย่อมจะสามารถประมาณ หรือคาดคะเนจำนวนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ค่อนข้างใกล้เคียงความจริง การที่จะทราบได้ว่าจำนวนเท่าใดจึงจะมากเพียงพอ และโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น จำนวนเท่าใด นั้นย่อมต้องอาศัย ความสังเกตจากเหตุการณ์ และวิธีการทางสถิติเข้าช่วยดังตัวอย่าง ของการโยนหัวโยนก้อยดังที่กล่าวมาแล้ว

2. ภัยเหนือการเสี่ยงนั้นจะต้องเกิดขึ้นจริงแท้หรือแน่นอน ความตายเป็นภัยที่แน่นอน แต่ภัยบางประเภทอาจมีปัญหาว่า ภัยนั้นได้เกิดขึ้นจริงตามที่ได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่ เช่น การประกันทุพพลภาพเนื่องจากอุบัติเหตุ มักมีปัญหาอยู่เสมอว่าทุพพลภาพนั้นเกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดจากเหตุอย่างอื่นที่ไม่ใช่อุบัติเหตุตามที่ได้เอาประกันภัยไว้ฃ

3. ภัยหรือการเสี่ยงนั้นจะต้องไม่เป็นภัยที่จงใจให้เกิดขึ้น คือมิได้เกิดจากเจตนาของผู้เอาประกันภัย คือภัยหรือความเสียหายนั้น ต้องไม่ใช่ภัยหรือความเสียหายที่อาจคาดการณ์ไว้ได้ และอยู่นอกเหนือการควบคุม ของผู้เอาประกันภัย ในการประกันชีวิต แม้ว่าความตายจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องตายเมื่อใดและอย่างไร สำหรับการฆ่าตัวตายนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็จะถูกปฏิเสธการชดใช้ และความมุ่งหมายของการประกันชีวิตก็คือการประกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สัญญาประกันชีวิตโดยทั่วไปจึงกำหนดให้การฆ่าตัวตาย หลังจากที่สัญญามีผลบังคับมาแล้วระยะหนึ่ง จะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นขององค์ประกอบที่ว่าภัยหรือการเสี่ยงนั้นจะต้องไม่อาจคาดหมายได้หรือต้องเกิดขึ้นโดยโอกาสมิใช่การจงใจ

4. ภัยที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ใช่ภัยทีมีลักษณะเป็นมหันตภัย ( Catastrophe) ซึ่งได้แก่ภัยที่ร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว เป็นต้น ภัยประเภทนี้จะทำลายกฎว่าด้วยจำนวนมาก (Law of Large Number) ได้เพราะความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากมหันตภัยมากเกินกว่าที่คาดไว้ บริษัทอาจจะต้องล้มละลาย เพราะไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ แต่การประกันต่อ (Re-Insurance) และการกระจายของภัย จะช่วยให้บริษัทสามารถรับประกันภัยเหล่านี้ได้

5. ภัยหรือการเสี่ยงภัยนั้นจะต้องไม่เป็นจำนวนเล็กน้อยเกินไป เพราะภัยแต่ละแบบแต่ละฉบับ ย่อมจะต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายในการเก็บเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและประเมินราคาความเสียหาย ซึ่งค่าใช้เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเบี้ยประกัน ดังนั้นถ้าเป็นภัยหรือการเสื่ยงภัยที่เล็กน้อยก็จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น การประกันภัยความเสียกาย ที่เกิดขึ้นกับแว่นตาเพียงอันเดียวซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ย่อมไม่คุ้มกับเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป

6. ค่าใช้จ่ายในการประกันภัยต้องไม่สูงเกินควร อัตราเบี้ยประกันภัยจะประกอบด้วยส่วนประกอบสองส่วน คือส่วนที่เป็นเบี้ยประกันภัยโดยแท้ (Pure-premium) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ให้ความคุ้มครองโดยตรง กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งกำไรถ้าหากส่วนที่เป็นเบี้ยประกันภัยโดยแท้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ย่อมไม่คุ้มกับค่าที่จะต้องเอาประกันภัย เช่น ถ้าเบี้ยประกันภัยรวมมีจำนวน 100 บาท ในจำนวน 100 นี้เป็นค่าใช้จ่ายและกำไรเสีย 90 บาท เหลือส่วนที่เป็นเบี้ยประกันภัยการเสี่ยงภัยโดยแท้เพียง 10 บาท เช่นนี้ย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องมีการประกันภัย จำนวนเบี้ยปนะกันภัยที่เหมาะสมและสามารถดึงดูดให้คนเอาประกันภัยได้นั้น อัตราส่วนของค่าใช้จ่ายและกำไรต้องไม่สูงเกินควร ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรสูงเกินร้อยละ 50 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยรวม

7.เหตุการณ์ที่จะเกิดความเสียหายจะต้องไม่มากในขณะหนึ่ง ดังที่ได้ทราบแล้วว่าการประกันเป็นการเฉลี่ยด้วย คือคนจำนวนมากเฉลี่ยความเสียหาย (เบี้ยประกันภัย) กันคนละเล็กละน้อย เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของบุคคลจำนวนน้อย ดังนั้นถ้าหากขณะใดขณะหนึ่งคนจำนวนมากต้องรับภาระในการเสี่ยงภัย คนกลุ่มน้อยย่อมไม่สามารถรับภาระให้การช่วยเหลือได้

ความเสี่ยงภัยที่ไม่อาจเอาประกันภัยได้

1. การขาดสถิติ การประกันภัยต้องอาศัยสถิติซึ่งรวบรวม จากประสบการณ์ในอดีต เป็นหลักความเสี่ยงภัย ที่ไม่อาจคาดคะเนได้ ย่อมไม่อาจเอาประกนภัยได้ เช่น ผู้ขายปลีกสินค้าเกี่ยวกับแฟชั่น ไม่อาจเอาประกันภัยความเสียหาย ที่เกิดจากการเปลี่ยนแฟชั่นโดยกระทันหันได้

2. ภัยที่ขัดต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน เช่น ผู้ขับขี่รถยนต์ ไม่สามารถเอาประกันภัย เพื่อคุ้มครองการเสียค่าปรับ ในกรณีการทำผิดกฎจราจรได้ หรือคนทุจริต ไม่สามารถเอาประกันภัยผลของการกระทำผิดของเขาได้

3. ความเสี่ยงภัยที่เสี่ยงมากเกินไป เช่น ภัยสงคราม ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616