วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลของสภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่าจะนำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อุทกภัยที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2531 และวาตภัยจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ.2531 และวาตภัยจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ. 2532 สาเหตุทำให้เกิดภัยธรรมชาติครั้งนั้น ส่วนหนึ่งคงมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางภาวะแวดล้อมขึ้น จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

การแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของประเทศปัญหาหนึ่งนั้น จำเป็นต้องทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและระยะยาว ให้ประชาชนได้เข้าใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และได้เกิดความตระหนักต่ออันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้

ดังนั้น ทางราชการจึงได้กำหนดให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้ขึ้นมา โดยถือเอาวันที่ 14 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

ความเป็นมา วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กษ 0709/382 ลงวันที่ 4 มกราคม 2533 เรียนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติให้วันที่ 14 มกราคม ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยพิจารณาว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไภยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้ อันเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดินพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากจะทำให้ประชาชนได้รับความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านจิตใจ และเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้สัมปทานหวงห้ามทุกชนิด (เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลง มีผลให้การทำไม้สัมปทาน จำนวน 276 ป่า เนื้อที่ 96,728,981 ไร่ ยุติลงโดยสิ้นเชิง ทำให้ต้นไม้ในป่าสัมปทานไม่ถูกตัดฟัน และทำการอนุรักษ์ป่าไม้สำหรับใช้สอยในอนาคตได้ คิดเป็นเนื้อไม้โดยเฉลี่ยปีละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จนทำให้รัฐบาลได้รับคำชมเชยจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก เพราะการระงับการทำไม้ดังกล่าว มีส่วนโดยตรงในการสนับสนุนมาตรการป้องกันมลภาวะของโลก

อีกทั้งระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 พายุโซนร้อนเกย์ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตแล ทรัพย์สินของประชาชนในภายใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรอีกครั้งหนึ่ง จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำรัส และพระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2532 โดยสรุปว่า ทรงห่วงใยในสภาพแวดล้อมของประเทศ ขอให้แก้ไขอย่างจริงจังด้วยการเผาให้น้อยลง และปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากสาเหตุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ จำเป็นต้องทำการรณรงค์ต่อเนื่องและระยะยาวให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญต่ออันตราย และผลกระทบของการตัดไม้ทำลายป่า โดยรัฐต้องสร้างความสำนึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า จึงขออนุมัติกำหนดให้วันที่ 14 มกราคม ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2533 กำหนดให้วันที่ 14 มกราคม เป็น วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนระลึกถึงผลเสียที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้ประชาชนภาคใต้และภาคอื่น ๆ เสียชีวิตและทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังจะได้ระลึกถึงมาตรการอันเด็ดขาดของรัฐบาลที่สั่งให้ปิดป่าระงับการทำไม้ในป่าสัมปทาน โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ 14 มกราคมDayมกราคมกรมป่าไม้,วันป่าไม้,วันสำคัญของไทย,วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลของสภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่าจะนำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อุทกภัยที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2531 และวาตภัยจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ.2531 และวาตภัยจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ. 2532 สาเหตุทำให้เกิดภัยธรรมชาติครั้งนั้น ส่วนหนึ่งคงมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางภาวะแวดล้อมขึ้น จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของประเทศปัญหาหนึ่งนั้น จำเป็นต้องทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและระยะยาว ให้ประชาชนได้เข้าใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และได้เกิดความตระหนักต่ออันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ ...