วันครูแห่งชาติ

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ

ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

คำว่า “ครู” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต ว่า “คุรุ” และภาษาบาลี “ครุ, คุรุ” คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำอบรมสั่งและสอน ศิษย์ นักเรียน หรือ นักศึกษา ให้เกิดความรู้ คิด อ่าน เขียน เพื่อให้เกิดประโยชน์มีอาชีพที่ดี รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

ประวัติวันครู

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งได้สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู เพื่อส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ในปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า ”ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก และเพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

การจัดงาน “วันครู” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนด เป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

ดอกไม้วันครู คือ “ดอกกล้วยไม้”

บทสวดเคารพครูอาจารย์
(สวดนำ) ปาเจราจริยา โหนติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
ข้าขอประณตน้อมสักการ บุรพคณาจารย์
ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทย เทอญฯ

ครูที่ดี ดูอย่างไร?

ปัจจุบันนี้ โลกของเราถือเป็นยุคของโลกไร้พรมแดน ที่ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ทำให้ประเทศเกิดความเจริญ รุดหน้าอย่างรวดเร็วในทุกด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา จากความทันสมัยนั้น ก็คือคนในสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรม มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม และด้วยการเปิดรับการไหลบ่า ของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามา ทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้เด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เกิดการเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติ โดยไม่มีการคัดกรองว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เนื่องจากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในเบื้องต้นให้แก่เด็ก

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ครู จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นผู้ที่สั่งสอน หรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถตระหนักได้ว่า ควรจะเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่ดี ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับพฤติกรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ครู จะต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และเหมาะสมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอบทบาทหน้าที่ของครู จรรยามรรยาท และวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง

หน้าที่ของครูอาจารย์ที่พึงมีต่อศิษย์
1. แนะนำดี คือ การให้คำแนะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ ลูกศิษย์
2. ให้เรียนดี คือ การแนะนำส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ลูกศิษย์ ให้มีผลการเรียนที่ดี
3. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง โดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมด ที่ตนเองมีอยู่ให้แก่ลูกศิษย์
4. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ให้การสนับสนุน และยกย่องลูกศิษย์ที่มีความประพฤติดี ให้ปรากฏแก่เด็กคนอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง
5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ จากสิ่งแวดล้อมและสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีทั้งหลาย

จรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์ และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งอุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
4. รักษาชื่อเสียงของตน มิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5. ถือปฏิบัติตามระเบียบ และแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้ โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตน ไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงาน หรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงาน และของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คงจะทำให้เห็นว่า ครู ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างมาก ในการเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เพราะในชีวิตของคนเรานั้น ถือว่าบิดา มารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะเป็นผู้ที่ให้กำเนิด ให้ความรัก ความเมตตา ความห่วงใยและเสียสละเพื่อลูก ครูก็ถือเป็นผู้ที่เสียสละเช่นกัน เพราะหากครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน และมีจรรยามรรยาทอย่างเคร่งครัดแล้ว เด็กก็จะนำไปเป็นแบบอย่าง ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เด็กก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีครูที่กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะยังมีครูอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างแท้จริง พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตน ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรม ให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทาง ในการประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองได้ต่อไปในอนาคต และในโอกาสที่ วันครู ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปีที่จะเวียนมาถึงนี้ ลูกศิษย์ทั้งหลาย จึงสมควรน้อมจิตรำลึกถึงพระคุณ และแสดงความเคารพสักการะ ต่อครูผู้มีพระคุณ ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ให้จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กฤษณา พันธุ์มวานิช สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คำปฏิญาณขอบครู
ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

กลอนวันครู

16 มกราวันนี้วันครู ท่านเป็นผู้ให้ความรู้ตลอดมา

ครูมีแต่ความหวังดีทุกเวลา ห่วงว่าศิษย์หลงทำผิดคิดพลาดไป

คอยอบรมสอนสั่งไม่ย่อท้อ ครูยังพอยิ้มได้และสุขใจ

เมื่อศิษย์ไปได้ดีดั่งหวังไว้ เหน็ดเหนื่อยเพียงไหนใจพร้อมสู้

ครูยืนอยู่เบื้องหลังเป็นกำลังใจ ความผิดใดที่ศิษย์ได้ทำไว้

โปรดขอครูนี้จงได้ให้อภัย ไม่ตั้งใจจริงๆสิ่งที่ทำไป

—————————————————-

ประนตน้อมพร้อมจิตลิขิตสาร ดำริกานท์ก้มเกศพิเศษหมาย
นบบูชาพระคุณครูมิรู้วาย ทั้งจิตกายตั้งมั่นกตัญญู

พระคุณที่สั่งสอนทั้งศาสตร์ศิลป์ ให้ศิษย์สิ้นสงสัยให้ความรู้
เกิดปัญญาก้าวหน้าเพราะคำครู ยังก้องอยู่โสตประสาทมิขาดไป

ตั้งแต่เรียนเขียน ก ทั้งนับเลข นิทานเสกสอนสั่งสร้างนิสัย
ขัดเกลาจิตศิษย์อยู่ให้รู้วัย ว่าสิ่งไหนนั้นควรไม่ควรทำ

ในวาระวันครู หนูจะเขียน ต่างแพเทียนธูปทองอันผ่องล้ำ
สร้อยอักษรล้วนจิตพินิจจำ กระแสน้ำพระคุณครูอยู่ชั่วกาล

วันครูแห่งชาติ 16 มกราคมDayมกราคมกลอนวันครู,ครู,ความเป็นมาวันครู,ดอกกล้วยไม้,ดอกไม้วันครู,ประวัติวันครู,พานพุ่มวันครู,วันครู,วันครูแห่งชาติ
16 มกราคม วันครูแห่งชาติ ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ คำว่า “ครู” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต ว่า “คุรุ” และภาษาบาลี “ครุ, คุรุ” คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำอบรมสั่งและสอน ศิษย์ นักเรียน หรือ นักศึกษา ให้เกิดความรู้ คิด อ่าน เขียน เพื่อให้เกิดประโยชน์มีอาชีพที่ดี รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ ประวัติวันครู วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งได้สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู เพื่อส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ในปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม...