วันกองทัพไทย

วันกองทัพไทย

วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึก ในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณ จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 (บางตำราว่า ปี พ.ศ. 2136)

เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรี ในสมัยนั้น ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันกองทัพไทย และวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ลง 13 มิ.ย.2523 ต่อมาในภายหลัง ได้มีนักประวัติศาสตร์ หลายท่าน ได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม ตามหลักการเดิม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย ลง 23 ส.ค.2549 ในปัจจุบัน วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ ” วันกองทัพไทย ”

ความเป็นมาวันกองทัพไทย
ในปีพุทธศักราช 2502 กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม เป็นวันกองทัพไทย ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ.2522 สมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นว่าวันกองทัพไทยควรเป็นวันที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละ จึงได้กำหนดเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา เป็นวันกองทัพไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี

วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ซึ่งตรงกับวันเดือนปีของจันทรคติ คือวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ทั้งนี้ได้มีผู้คำนวณไว้ว่าตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2136

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2523 กำหนดให้วันที่ 26 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ซึ่งอดีตท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและคณะกรรมการที่ปรึกษาอีกหลายหน่วยงาน ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ได้พบความคลาดเคลื่อนของวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี และวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษก

จึงได้มีหนังสือพร้อมข้อมูลของวันกองทัพไทย เสนอไปสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไข วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของชาติไทยที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย 2 เรื่องคือ

1. วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา หรือ “วันกองทัพไทย” ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ คือวันที่ 25 มกราคม ที่ถูกต้องคือ วันที่ 18 มกราคม

2. วันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตราธิราชของไทย ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้คือ วันที่ 28 ธันวาคม ที่ถูกต้องคือ วันที่ 27 ธันวาคม

– สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องมอบให้คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี หม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุล เป็นประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีผลการพิจารณาดังนี้

“….คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า

1. วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา หรือวัน “กองทัพไทย” ได้เคยมีการคำนวณไว้ เมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม และ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ได้คำนวณ และเขียนบทความไว้ว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม เช่นกัน

2. สาเหตุที่ได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรง กระทำยุทธหัตถีฯนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณนคร รองประธานกรรมการ ให้ข้อสันนิษฐานว่า ผู้คำนวณสำคัญผิดว่า วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 15 หรือ 16 เมษายนมาตลอด แต่แท้จริงวันเถลิงศก เพิ่งมาตรงกับวันที่ 15 เมษายน เมื่อ พ.ศ. 2443 และเริ่มตรงกับวันที่ 15 เมษายนบ้าง วันที่ 16 เมษายนบ้าง มาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ซึ่งในปีที่กระทำยุทธหัตถี วันเถลิงศก ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 เมษายน แต่ผู้คำนวณคิดว่า วันเถลิงศกปีนั้น ตรงกับวันศุกร์ที่ 16 เมษายน จึงคำนวณวันผิดไป 7 วัน

3. การที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา หรือวัน “กองทัพไทย” ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า เป็นวันที่ 25 มกราคม มาเป็นวันที่ 18 มกราคม นั้น เป็นเรื่องของส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องพิจารณาเอง เพียงแต่มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า วันที่ถูกต้องตามการคำนวณ คือวันที่ 18 มกราคม ก็คงจะเพียงพอแล้ว….”

(ที่มา หนังสือคณะกรรมการ ชำระประวัติศาสตร์ไทยที่ นร 0113 (ปวศ.) 2274/2540 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2540)

– สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ให้ทราบดังนี้

“….ตามที่ท่านได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขวันสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้อง คือ

1. วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา หรือวัน “กองทัพไทย” ซึ่งปัจจุบัน กำหนดให้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ที่ถูกต้องคือ วันที่ 18 มกราคม….. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พิจารณาเรื่องดังกล่าว และกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาให้แจ้งผลการพิจารณา ของคณะกรรมการฯ ให้ท่านทราบ….”

(ที่มา หนังสือสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร0113/16658 ลงวันที่ 21 สิงหาคมพ.ศ.2540)

วันกองทัพไทย

– หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่อ้างถึงนี้ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบด้วย แต่ไม่ทราบผลการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงกลาโหม

– เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2540 พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ได้มีหนังสือเสนอกองบัญชาการทหารสูงสุด ขอให้เปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย โดยท่านให้ข้อคิดเห็นว่า ท่านได้ศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยใช้หลักวิชาโหราศาสตร์ดวงดาว ทั้งฮินดู และตะวันตกมาคำนวณ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ของวันดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่?

– จากเอกสารที่เสนอกองบัญชาการทหารสูงสุด กรมยุทธศึกษาทหาร ได้นำเสนอในที่ประชุมกรมเสนาธิการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ นายตำรวจนอกราชการ ได้มีหนังสือนำเรียน ผบ.ทหารสูงสุด เสนอให้พิจารณาเปลี่ยนวันกองทัพไทย จาก 28 ม.ค. เป็น 18 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา ยศ.ทหาร มีข้อพิจารณาดังนี้

1. การประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 12/22 เมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ.2522 ได้มีมติ กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา เป็นวันกองทัพไทย ซึ่ง ครม.ได้ลงมติเห็นชอบและอนุมัติ และเมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ.2527 ที่ประชุมสภากลาโหม ได้มีมติยืนยันว่าวันที่ 25 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทางราชการแล้ว และหากมีการเปลี่ยนแปลง วันที่กระทำยุทธหัตถี รัฐบาลต้องประกาศเปลี่ยนแปลง

2. สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยืนยัน และแจ้งให้ กห.ทราบ เมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ.2541 ว่าวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ที่ถูกต้องคือ วันที่ 18 มกราคม ประธานให้ใช้วันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยตามเดิม จนกว่าทางรัฐบาล จะมีหนังสือแจ้งว่าวันใด เป็นวันกระทำยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่แน่นอน บก.ทหารสูงสุด จึงจะดำเนินการต่อไป

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 กำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถีและวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดวันกองทัพไทยสอดคล้องกับเหตุผลที่ยึดถืออยู่เดิม

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม

ประวัติการทำยุทธหัตถี
ในปี พ.ศ.2135 พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมก ไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวง บริเวณหนองสาหร่าย เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้ มาแล้ว หรือ เคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่า หลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์ และจาตุรงค์บาท เท่านั้น ที่ติดตามไปทัน สมเด็จพระนเรศวร ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้ กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรง ของสองพระองค์หลงถลำเข้ามา ถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบ ของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึก จึงไสช้างเข้าไปใกล ้แล้วตรัสถาม ด้วยคุ้นเคย มาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว” พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าชน เจ้าพระยาไชยานุภาพ เสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ ชนพลายพัทธกอ เสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะรีเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเลย

สงครามยุทธหัตถี
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า “การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ เช่น พระนเรศวร ทรงกระทำยุทธหัตถ ีกับพระมหาอุปราชา บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่า จะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมี หอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพ จะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด

ภารกิจกองทัพไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ” เพื่อให้บรรลุภารกิจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

กระทรวงกลาโหมได้กำหนดวัตถุประสงค์ทางทหาร ดังนี้

1. เพื่อป้องปราม ป้องกัน และต่อสู้เอาชนะภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ

2. เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

3. เพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบภายในประเทศ

4. เพื่อสนับสนุนและร่วมใจพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน และการบรรเทา สาธารณภัย

5. เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ชาติ

6. เพื่อร่วมมือกับมิตรประเทศตามนโยบายของรัฐในการรักษาสันติภาพและการป้องกันร่วมกัน

วิวัฒนาการกองทัพไทย

กองทัพไทย เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับคนไทย มาตั้งแต่ครั้งชนชาติไทยมาก่อตั้งรกรากในดินแดนแหลมทองแห่งนี้ กองทัพไทยมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างแนบแน่นมาโดยตลอด โดยมีหน้าที่หลักในการปกป้องคุ้มครองชาติ ผืนแผ่นดิน และประชาชนในชาติให้ได้รับความปลอดภัย ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย คนไทยทุกคนต่างมีส่วนร่วมในกองทัพไทย โดยเฉพาะผู้ชายที่จะต้องถูกเรียกไปเป็นทหารเมื่อเกิดศึกสงคราม ครั้นเมื่อกองทัพไทยปรับเปลี่ยนไปอย่างประเทศตะวันตก

สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ.1800)

เมื่อครั้งสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช การจัดการทางทหารยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนนัก ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร ต้องออกรบเมื่อเกิดศึกสงคราม และเตรียมพร้อมในยามปกติเพื่อรับศึกจากศัตรูภายนอก ไม่มีแบ่งแยกระหว่างพลเรือนกับทหาร ทุกคนต่างมีส่วนร่วมในกองทัพ และเมื่อบ้านเมืองสงบก็กลับไปทำไร่ไถนาเหมือนชาวบ้านทั่วไป

สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310)

มีการปรับปรุงด้านการทหารให้เป็นระเบียบแบบแผนและมีประสิทธิภาพขึ้น มีการจัดเป็นรูปกองทัพ แยกกิจการทหารออกจากพลเรือน โดยแบ่งทหารออกเป็น 4 เหล่า คือ พลเดินเท้า พลม้า พลช้าง พลรถ มีการรวบรวมตำราพิชัยสงคราม สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติการรบ ชายไทยทุกคนเมื่ออายุ 18 ปี ต้องถูกเรียกเกณฑ์เป็นทหาร สมัยอยุธยาตอนปลาย ไทยได้เปิดการเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส กองทัพไทยจึงได้รับวิทยาการทหารแบบตะวันตก โดยมีการฝึกหัดทหารแบบยุโรป มีการแบ่งทหารออกเป็นกอง กองละ 50 คน

สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310-2325)

เริ่มมีการแบ่งกำลังออกเป็นกำลังทางบก และกำลังทางเรือ มีการพัฒนากิจการทหารเรืออย่างเห็นได้ชัด มีการสร้างเรือรบเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการของกำลังทางบกในการโจมตีข้าศึกและยกไปตีหัวเมืองต่าง ๆ

สมัยรัตนโกสินทร์

มีการพัฒนากิจการทหารทั้งในด้านการเตรียมพล การเกณฑ์พลเรือนเข้าเป็นทหาร การแบ่งเหล่าทหาร การจัดหน่วยทหาร การสั่งซื้ออาวุธจากจีน อินเดีย และชวา กองทัพไทยเริ่มมี วิวัฒนาการไปแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการฝึกทหารตามแบบตะวันตก โดยจ้างทหารต่างชาติเข้ามาเป็นครูฝึก และได้แยกทหารเรือออกจากทหารบก จัดตั้งเป็นทหารเรือวังหน้า กับทหารมะรีน

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงปรับปรุงกิจการทหารในด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาทหารในทวีปยุโรป ทั้งทหารบกและทหารเรือ และเมื่อบรรดาพระราชโอรสทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ต่างก็ทรงนำวิทยาการทหารสมัยใหม่มาปรับปรุงการทหารของไทย ทั้งด้านการจัด อาวุธยุทโธปกรณ์ และยุทธวิธี มีการจัดตั้งหน่วยงานสำคัญทางทหาร ดังนี้

พ.ศ.2413 กรมทหารมหาดเล็ก

พ.ศ.2430 กรมยุทธนาธิการ

พ.ศ.2430 โรงเรียนนายร้อยทหารบก

พ.ศ.2435 กระทรวงกลาโหม

พ.ศ.2441 กรมเสนาธิการทหารบก

พ.ศ.2442 โรงเรียนนายเรือ

สำหรับการจัดกำลังรบของทหารบก มีการจัดกำลังรบออกเป็น 10 กองพล ส่วนทหารเรือ มีการจัดตั้งกรมทหารเรือ ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ เมื่อ พ.ศ.2430 ทำหน้าที่บังคับบัญชาทหารเรือทั้งหมด ได้เริ่มมีการจัดทำธงประจำกองทหารขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2428 สำหรับใช้เป็นธงนำทัพในยามออกรบ และได้ตราพระราชบัญญัติธงชัยเฉลิมพลขึ้นเมื่อ พ.ศ.2432

สมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงส่งนายทหารช่าง 3 นาย (พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ, น.อ.พระยาเวหาสยานศิลป์ประสิทธิ์ และ น.อ.พระยาทะยานพิฆาต) ไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วจัดตั้งแผนกการบินขึ้น พ.ศ.2456 มีที่ตั้งอยู่ที่สนามม้าสระปทุม และต่อมา พ.ศ.2457 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองบินทหารบก พ.ศ.2464 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอากาศยาน พ.ศ.2478 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทหารอากาศ

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงปัจจุบัน

กองทัพไทยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นแบบตะวันตก กองทัพไทยมีการจัดกำลังรบเป็น 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ (เปลี่ยนชื่อจากกรมทหารเรือ พ.ศ.2476) และกองทัพอากาศ (ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ 9 เมษายน 2480) และเมื่อ พ.ศ.2493 ภายหลังจากที่ไทยได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ ได้มีการปรับปรุงหลักนิยม การจัดหน่วยและยุทโธปกรณ์จากแบบยุโรปเป็นแบบสหรัฐอเมริกา ต่อมา 14 พฤษภาคม 2495 สถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศ ทำให้มีโรงเรียนผลิตนายทหารหลักครบทั้ง 3 เหล่า

กำเนิดกองบัญชาการทหารสูงสุด

กองทัพไทยเคยจัดตั้งกองบัญชาการทหารชั่วคราวเพื่อบัญชาการรบมาแล้ว 2 ครั้ง คือ กรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส (พ.ศ.2483-2484) และ สงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.2485-2487) ซึ่งจากการจัดตั้งกองบัญชาการดังกล่าวช่วยให้การบัญชาการรบเป็นไปอย่างมีเอกภาพ กระทรวงกลาโหมจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งกองบัญชาการทหารอย่างถาวร เมื่อ พ.ศ.2503 จึงได้แปรสภาพกรมเสนาธิการกลาโหมมาเป็นกองบัญชาการทหารสูงสุด สำหรับเป็นหน่วยบัญชาการรวมของกองทัพไทย มีหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาและประสานการปฏิบัติของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

บทบาทกองทัพไทย

การป้องกันประเทศ
กองทัพไทยได้จัดทำแผนป้องกันประเทศไว้สำหรับรับสถานการณ์จากภัยคุกคามทุกด้าน และจัดให้มีการฝึกร่วมกองทัพไทยเป็นประจำทุกปี มีการจัดเตรียมกำลังรบพร้อมปฏิบัติตามแผนตั้งแต่ยามปกติ เฝ้าติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงชายแดน โดยดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางชายแดน ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งแก้ปัญหาผู้อพยพ ผู้หลบหนีเข้าเมือง ทั้งนี้กองทัพไทยได้จัดเตรียมกำลังเพื่อรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามแนวชายแดน โดยวางกำลังไว้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ล่อแหลม เพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยจากกองกำลังต่างชาติ นอกจากนี้กองทัพไทยยังได้ร่วมมือกับส่วนราชการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาตามแนวชายแดน ดำเนินการโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเอง พัฒนาพื้นที่ และอบรมราษฎรในพื้นที่ให้รักถิ่นฐาน ไม่อพยพออกจากพื้นที่ และสามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามได้

การรักษาความมั่นคงภายใน
กองทัพไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ร่วมปลุกจิตสำนึกและอุดมการณ์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจทางความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ปฏิบัติการด้านการข่าวและการปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข่าวสารกับทางราชการ ปราบปรามยาเสพติดโดยสร้างแนวป้องกันชายแดน เพื่อปัญหาการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย

การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสากลนับเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ และภัยต่อความสงบเรียบร้อยในประเทศ พ.ศ.2540 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วม 106 (ศอร.106) เพื่อรับผิดชอบโดยตรง ต่อมา พ.ศ.2546 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรประสารการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายสากลขึ้น

การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมิ่งขวัญที่เหล่าทหารเทิดทูนไว้เหนือเกล้า ฯ พร้อมที่จะถวายชีวิตเป็นราชพลี กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

การรักษาผลประโยชน์ของชาติ
กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า รักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ขจัดปัญหาความขัดแย้งในการทำประมง ช่วยแหลือผู้ประสบภัย และบรรเทาสาธารณภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ และร่วมแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงตามโครงการพระราชดำริ

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
กองทัพไทยได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน รวมทั้งการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของประเทศไว้ ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น ปลูกป่าชายเลน อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล อนุรักษ์ปะการัง พัฒนาพื้นที่ในกองทัพให้เป็นระเบียบ สวยงาม

การพัฒนาประเทศ
ภารกิจในการพัฒนาประเทศของกองทัพไทยนั้นมีทั้งโดยตรงและทางอ้อม ในทางตรงนั้นได้กำหนดไว้ตามแผนการปฏิบัติงานประจำปีของแต่ละหน่วย โดยใช้กำลังพลและงบประมาณของกองทัพในการดำเนินการ สำหรับทางอ้อมนั้นได้สนับสนุนภาครัฐและเอกชนตามโครงการพัฒนาประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง

กิจกรรมในวันกองทัพไทย
กิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทย คือ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่นิยมเรียกว่า “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกคน และเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมและเป็นการสักการะดวงวิญญาณนักรบไทย จะมีพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทางทหาร เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฯลฯ

วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 18 มกราคมDayมกราคมกองทัพไทย,วันกองทัพไทย,วันยุทธหัตถี,วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันกองทัพไทย วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึก ในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณ จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 (บางตำราว่า ปี พ.ศ. 2136) เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรี...