ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ Market for Alternative Investment - MAI


ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - MAI) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สอง ของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุน เพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้ แต่ตลาดใหม่นี้ จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี - SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่างๆ ลง เช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของหลักทรัพย์ในตลาดหลัก คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ได้มีหนทางในการระดมทุน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

วิสัยทัศน์
โอกาสใหม่ของธุรกิจ ในการเติบโตระยะยาวอย่างมีคุณภาพ

พันธกิจ
เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน
- เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
- เสริมสร้างเครือข่ายเพื่อความพร้อมในการแข่งขัน


ประโยชน์ที่เข้าจดทะเบียน


1. ประโยชน์ต่อบริษัท
- แหล่งระดมเงินทุนระยะยาว
บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชน เพื่อนำไปใช้ เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายธุรกิจได้โดยง่าย และรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบ ในด้านการแข่งขัน รวมทั้งช่วยให้มีโครงสร้างทางการเงิน ที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาส ในการเลือกระดมทุน ผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ภายหลังการเข้าจดทะเบียน เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

- ภาพลักษณ์
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ในฐานะที่บริษัทได้ผ่านการพิจารณาจาก สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานะมั่นคงในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ภาพลักษณ์ที่ดีนี้จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัท เช่น ความน่าเชื่อถือ อำนาจในการต่อรอง และสร้างความตระหนัก ตลอดจนความนิยมในผลิตภัณฑ์ / บริการของกิจการโดยทางอ้อม นอกจากนี้การเผยแพร่ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของบริษัทผ่านสื่อต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และภาคธุรกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเกื้อกูลต่อกิจการของบริษัทให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น คุณประโยชน์นี้ หากสามารถตีค่าเป็นตัวเงินแล้ว ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล สำหรับคู่แข่งที่มิได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะต้องใช้ในการโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับของสาธารณชน

- จุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงหรือขยายธุรกิจกับธุรกิจต่างประเทศ
ในยุคโลกาภิวัฒน์ การประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ทวีความสำคัญมากขึ้น การมีแนวร่วม โดยเฉพาะแนวร่วมจากกิจการในต่างประเทศ ที่สามารถเกื้อกูลระหว่างกันทั้งในด้านการตลาด การผลิต เทคโนโลยี การเงิน และบุคลากร ย่อมส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นแรงจูงใจ ให้เกิดความสนใจ ในการเข้าร่วมลงทุนจากธุรกิจต่างชาติ ซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้น

- การสร้างความรับผิดชอบและการบริหารแบบมืออาชีพ
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้บริษัทบริหารงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากบริษัทจะอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุน โดยมีราคาหุ้นของบริษัทเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่น ของสาธารณชนที่มีต่อกิจการในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันการเข้าจดทะเบียนก็จะเป็นเครื่องมือ ในการกำกับดูแลการบริหารกิจการ ให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มพูนประสิทธิผลในการประกอบธุรกิจ อันจะเป็นผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทโดยรวม

- ความภาคภูมิใจของบุคลากรของบริษัท
คุณประโยชน์ที่สำคัญประการหนึ่ง ที่มักจะถูกมองข้ามจากการที่บริษัท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ความภาคภูมิใจของพนักงานของบริษัท โดยหากบริษัทนั้นมีผลประกอบการ และภาพลักษณ์ที่ดีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ย่อมทำให้บุคลากรของบริษัทเกิดความรู้สึกที่ดีต่อบริษัท หากผู้บริหารรู้จักใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการสร้างความยึดมั่นหรือค่านิยมร่วม ( shared value) ให้เกิดขึ้นในลักษณะของการกระตุ้น ให้บุคลากรทุกฝ่ายได้ตระหนัก และมีส่วนร่วม ต่อการสร้างชื่อเสียง และเกียรติคุณของบริษัท คุณประโยชน์อันมหาศาล ย่อมจะเกิดขึ้นกับบริษัทในระยะยาว

- สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผล
บริษัทจดทะเบียน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียน ไปถือหุ้นของบริษัทอื่น ที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย หรือกองทุนรวม หรือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทอื่นดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้มารวมเป็นรายได้ของบริษัท เพื่อเสียภาษี แต่เงินที่ได้รับดังกล่าวต้องเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้น หรือหน่วยลงทุนที่ถือไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และหลังวันที่ได้รับเงินได้

2. ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น

เสริมสร้างสภาพคล่อง การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่อง ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท เนื่องจากผู้ถือหุ้น สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้สะดวก และง่ายในเวลาที่ต้องการ ตลอดจนทราบมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ตามความต้องการของตลาด และใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้

ความคุ้มครองในการลงทุน ผู้ถือหุ้นจะได้รับความคุ้มครองในการลงทุน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบในการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น ตลอดจนให้ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง พอเพียงทันเวลา และเท่าเทียมกัน

- สิทธิประโยชน์ทางภาษี
บุคคลธรรมดา ที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
1. เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
2. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินปันผล จากบริษัทจดทะเบียนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทย มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการดังนี้
2.1 ไม่นำเงินปันผลดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เฉพาะผู้มีเงินได้ ที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตภาษี ที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ
2.2 นำเงินปันผลดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยจะได้รับการเครดิตภาษี เท่ากับจำนวนที่คำนวณได้ จากสูตรดังนี้ X/(100 - X)*Y (X คือ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและ Y คือเงินปันผลที่ได้รับ) โดยผู้ลงทุน ต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผล ที่คำนวณได้ ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษี หากผู้ลงทุน จะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีเงินปันผล ที่คำนวณได้ดังกล่าว หักออกจากเงินภาษีที่ต้องเสีย





จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ