สงกรานต์ วันสงกรานต์ เพลงสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์ นางสงกรานต์ ปีใหม่ ปีใหม่เมือง ปี๋ใหม่ล้านนา ตำนานวันสงกรานต์


เกี่ยวกับ ประเพณีสงกรานต์
ภาพสงกรานต์ สงกรานต์เชียงใหม่ คลิก


          คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก

          กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำในเทศกาลนี้ก็มี การทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ประเพณีสงกรานต์ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง สำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์มีดังนี้

๑.ก่อนที่เราจะถือวันสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ครั้นในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ จอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล อย่างไรก็ดี คนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งแต่เดิมแม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ดังเช่นปัจจุบัน จนเมื่อพ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นมา จึงได้กำหนดเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ตามปฏิทินเกรกอรี่
๒.นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีมอญ พม่า ลาว และชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆอันเป็นชนส่วนน้อยในจีน อินเดีย ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน

๓.ภาคกลางเรียกวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งวันนี้ทางการได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก “วันเนา” และรัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ประกาศให้เป็น “วันครอบครัว” ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียก “วันเถลิงศก” คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่

๔.ทางล้านนาเรียกวันที่ ๑๓ เมษายนว่า “วันสังขารล่อง” ซึ่งบางท่านให้ความหมายว่า หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก“วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายนเรียก “วันพญาวัน” คือวันเปลี่ยนศกใหม่

๕.ภาคใต้ เรียกวันที่๑๓ เมษายนว่า “วันเจ้าเมืองเก่า”หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่นแล้ว

๖.ตำนานสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์และนางสงกรานต์ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือ ในวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์

๗.นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด มีด้วยกัน ๗ องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็น “เมียน้อย”ของพระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมในตำนาน

๘.นางสงกรานต์ มีชื่อตามแต่ละวันในสัปดาห์คือ วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ วันจันทร์ ชื่อ นางโคราคะ วันอังคาร ชื่อ นางรากษส วันพุธ ชื่อ นางมณฑา วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา วันเสาร์ชื่อ นางมโหทร

๙.นางสงกรานต์แต่ละองค์จะมีพาหนะทรงต่างกัน ตามลำดับแต่ละวัน คือ นางทุงษะขี่ครุฑ นางโคราคะขี่เสือ นางรากษสขี่หมู นางมณฑาขี่ลา นางกิริณีขี่ช้าง นางกิมิทาขี่ควาย และนางมโหทรขี่นกยูง ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหนะทรงจะมิใช่ปีนักษัตรของปีนั้นๆ ตามที่หลายคนเข้าใจผิด

๑๐.คำว่า “ดำหัว”ปกติแปลว่า “สระผม” แต่ในประเพณีสงกรานต์ล้านนา จะหมายถึง การไปแสดงความเคารพ ขออโหสิกรรมที่อาจได้ล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการไปขอพรจากผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ในเมืองหรือครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา โดยส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยไปไหว้ท่าน และท่านก็จะจุ่มแล้วเอาน้ำแปะบนศีรษะเป็นเสร็จพิธี

๑๑.ในสมัยก่อนเมื่อใกล้สงกรานต์หรือวันสงกรานต์ จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนแต่ก่อนเรียกว่า “ตัวสงกรานต์” เป็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายไส้เดือน แต่เล็กขนาดเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ นิ้ว มีสีเลื่อมพราย เป็นสีเขียว เหลือง แดง ม่วง เปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ จะอยู่กันเป็นฝูงในแม่น้ำลำคลอง เมื่อกระดิกตัวว่ายน้ำจะทำให้เกิดประกายสีต่างๆสวยงามแปลกตา ถ้าจับพ้นน้ำ สีจะจางหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆและเหลวละลาย ปัจจุบันเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

๑๓.มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้...

 
ประวัติ ตำนานวันสงกรานต์
          มีท่านเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรแต่ต้องการบุตรมาก ด้วยถูกนักเลงสุราที่บ้านใกล้กันนั้นกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี ท่านเศรษฐีจึงกล่าวถามว่า "เหตุใดท่านจึง กล่าวดูถูกเราผู้มีสมบัติมาก" นักเลงสุราตอบกลับว่า "ถึงแม้ท่านเป็นผู้มีสมบัติมาก แต่ท่านก็ไม่มีบุตร เมื่อเสียชีวิตแล้ว สมบัติเหล่านี้ก็สูญเปล่า เรานั้นมีบุตร ย่อมประเสริฐกว่า" ท่านเศรษฐีจึงได้จัดพิธีบวงสรวงขอบุตรจากพระอาทิตย์ และพระจันทร์ รอนานสามปีก็มิได้เกิดบุตร เมื่ออาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ท่านเศรษฐีจึงพาบริวารไปบวงสรวงขอบุตรจากพระไทร พระไทรมีความเมตตาสงสารเศรษฐีผู้นี้ จึงได้ขึ้นไปบนสวรรค์ทูลขอบุตรจากพระอินทร์ให้แก่เศรษฐี ผู้นั้น พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลกุมารเทวบุตรลงมาเกิดเป็นบุตรของท่านเศรษฐี

          เมื่อภรรยาของท่านเศรษฐีคลอดบุตร ท่านเศรษฐีได้ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ และตั้งชื่อให้ว่าธรรมบาลกุมารธรรมบาลกุมารนี้เป็น เด็กที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างมาก เรียนรู้ไตรเทพจบเมื่ออายุ ๗ ขวบอีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ภาษานกได้อีก ความดังกล่าวได้ล่วงรู้ถึงท้าวกบิลพรหม ท่านจึงต้องการที่จะทดสอบปัญญาของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อคือ

          ข้อที่ ๑ เช้าราศีสถิตอยู่แห่งใด

          ข้อที่ ๒ เที่ยงราศีสถิตอยู่แห่งใด

          ข้อที่ ๓ ค่ำราศีสถิตอยู่แห่งใด

          และตกลงกันว่า ถ้าธรรมกุมารสามารถตอบปัญหา ๓ ข้อนี้ได้ ภายใน ๗ วัน จะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบปัญหาได้ ธรรมบาลกุมารต้องตัดศีรษะของตนบูชาท้าวกบิลพรหมเช่นกัน

          เวลาล่วงเลยไปถึง ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ด้วยความกลัวอาญาท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมาร จึงได้หนีไปแอบซ่อนอยู่ใต้ต้นตาลและบนต้นตาลนั้นมีนกอินทรี ๒ ตัว ผัวเมียทำรังอยู่นกอินทรีทั้งสองได้สนทนากันอยู่ในเรื่องการออกไปหากินในวันพรุ่งนี้ นางนกอินทรี : "พรุ่งนี้เราจะไปหากินที่ไหนกันดี "นกอินทรีตัวผู้ : "พรุ่งนี้เราไม่ต้องออกไปหากินไกลหรอก ด้วยพรุ่งนี้ธรรมบาลกุมารจะต้องตัดศีรษะบูชาท้าวกบิลพรหม เนื่องจากตอบปัญหาไม่ได้"
นางนกอินทรี : "น่าสงสารกุมารน้อยยิ่งนัก ท้าวกบิลพรหมก็ช่างถามปัญหาที่มนุษย์เกินจะตอบได้"
นกอินทรีรู้สึกหมั่นไส้นางนกอินทรีจึงได้บอกถึงคำตอบที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารให้นางนกอินทรีได้รู้
นกอินทรีตัวผู้ : "ราศีแห่งมนุษย์นั้นจะสถิตอยู่ที่ร่างกายต่างวาระกัน คือ เวลาเช้าจะสถิตอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงต้องล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีสถิตอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องปะพรมน้ำที่หน้าอก และเวลาค่ำสถิตอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้า จึงจะพ้นอัปรีย์จัญไรทั้งปวง"

          ธรรมบาลกุมารเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ได้จดจำคำตอบและนำไปบอกแก่ท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงจำต้องตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมมีพิษมาก คือ ถ้าตัดแล้วตั้งไว้บนแผ่นดิน แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นสู่ท้องฟ้าฝนก็จะตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำก็จะเหือดแห้ง ท้าวกบิลพรหมจึงรับสั่งเรียกธิดาทั้ง ๗ เพื่อให้นำเศียรของท้าวกบิลพรหมไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในมณฑปถ้ำธุลีเขาไกรลาศ ครั้นครบกำหนด ๓๖๕ วัน (โลกสมมุติว่าเป็น ๑ปี) เป็นสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่นั้นเอง นางสงกรานต์ก็จะต้องนำเศียรของท้าวกบิลพรหมแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี





ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์
         สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

         มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

         วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

         วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้
วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

         ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว
จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ

 
นางสงกรานต์
         เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑ ในทั้งหมด ๖ ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด ๗ องค์ ได้แก่

๑. นางสงกรานต์ทุงษเทวี

ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ


๒. นางสงกรานต์โคราดเทวี

โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)


๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี

รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)


๔. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี

มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)


๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี

กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)


๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)


๗. นางสงกรานต์มโหทรเทวี

มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

 
การทำบุญ ในวันสงกรานต์
         การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

๑. พิธีหลวง พระราชพิธีสงกรานต์ (คัดจากปี ๒๕๓๑)

         วันที่ ๑๕ เมษายน ในเวลาเช้า ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน ๖๗ รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล
         เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะ พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว ๒ ผืน นุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑) มีขวดน้ำหอม ๑ ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ
         เวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระพุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่างๆ
         เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที่ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะ พระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช
เมื่อก่อน การบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังมี ๔ วัน คือวันที่ ๑๓-๑๖ เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ ๑๕ เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ ๑๕ เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรทีในพระบรมมหาราชวัง
         เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์การ พระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จ          เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ
         เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูล รายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไป ถวายเป็นพุทธบูชา เจดียสถานต่างๆ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระอัฐิ ๕ รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๕๐ รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสร็จการ

๒. พิธีราษฎร์

         การทำบุญในวันสงกรานต์ อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ ๒ แห่งคือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถว และนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้
         ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพรพระคือ พาหุง พอเสร็จ ก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉัน จะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
         การก่อเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด
         การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น
         การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน
         การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรน้ำผ้า ๑ สำรับ คือ ผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับ ดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้ มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม ๑ สำรับและดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป
         การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริง จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย
         การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย
การแห่นางแมว บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือ ถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน

 
กิจกรรมวันสงกรานต์
๑. ทำบุญตักบาตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต
๒. ปล่อยนกปล่อยปลา คนไทยมีความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าเป็นการอโหสิกรรมและชำระบาปในส่วนที่ตน
เป็นผู้ก่อ อีกทั้งทำให้เคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้นหมดไป
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่ขัดสน เช่น คนชรา เด็กพิการ เด็กกำพร้า เป็นต้น
๔. สรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
๕. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ได้แก่ บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่มีพระคุณ การรดน้ำผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ด้วยต้อง
การขอขมาสิ่งที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ในบางครั้ง รวมถึงเป็นการขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล และข้อคิดเตือนใจแก่ตนเอง อีก
ทั้งเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอีกด้วย การรดน้ำ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่ง
แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของบุตรหลานที่มีต่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรจากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่
เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่
๖. การละเล่นสาดน้ำ ประเพณีนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์เลยทีเดียว ด้วยงานฉลองวันสงกรานต์นั้นเป็นช่วง ฤดูร้อน ประเพณีเริ่มจากการที่มีการสรงน้ำพระ และรดน้ำญาติผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำนั้นนิยมกันในหมู่ของหนุ่มสาว น้ำที่
ใช้สาดกันนั้นจะใส่น้ำอบ น้ำหอม แต่ในปัจจุบันประเพณีอันดีงามอันนี้ได้จางหายไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ใน
ปัจจุบันมีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง รวมถึงได้มีการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการละเล่นสาดน้ำมากขึ้นด้วย
 
สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์
๑. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
๒. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด
๓. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม
๔. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ
๕. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป ๑ ปีแล้วและในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง
๖. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว
๗. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน
 
เพลงสงกรานต์
เพลง : รำวงเริงสงกรานต์
ศิลปิน : สุนทราภรณ์
เพลง : นาวาสงกรานต์
ศิลปิน : ร๊อคสะเดิด 3

(สร้อย) ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้องทำนองเพลงโทน โน่นไงจ๊ะโทนป๊ะโท่นโทน ทั้งโยกทั้งโยนเย้ายวนยั่วใจ

(ช) วันตรุษหยุดการหยุดงาน สังคมชาวบ้านสิคร้านครึกครื้น เริงสงกรานต์กันพอขวัญชื้น ๆ ฉลองวันคืน จนครื้นเครงคลาน ดอกเอ๋ยมะเขือ แม้ตัวเนื้อมันเต้น เชิญน้องมาเล่นสงกรานต์
(หมู่ ช.) เอ้าเชิญน้องขึ้นวิมาน รับฟ้าสงกรานต์กันกะพี่ปะไร เอ้าเชิญน้องขึ้นวิมาน รับฟ้าสงกรานต์กันกะพี่ปะไร

(สร้อย)

(ญ) ฟังพี่ที่ชวนที่เชิญ ขวัญเอยมันเปิ่นสะเทิ้นท้อถอย ชีวิตชีวาน้องหนาน้อย ๆ รำแล้วจะพลอยลอยคว้างกลางลาน ดอกเอ๋ยฟักทอง รักจะร้องรำเต้น ประสาเราเล่นสงกรานต์
(ญ) เอ้ามาซิถ้าต้องการ สำเริงสำราญกันเป็นคู่ ๆ ไป
(หมู่ ญ) เอ้ามาซิถ้าต้องการ สำเริงสำราญกันเป็นคู่ ๆ ไป

(สร้อย)

(ช) รำคู่อยู่เคียงใกล้กัน สายทรวงมันสั่นมันซึ้งเสียว ๆ งามแท้รำไทยเรื่อยไหลลดเลี้ยว เราร้อยกรเกลียว เพรียวพลิ้วปลิวลม ดอกเอ๋ยชะบา เหมือนนางฟ้ามาใกล้ มาเย้ายวนให้หลงชม อ๋อนางฟ้าน่าชื่นชม สวยจริงสวยจมงามตรงห่มสไบ
(หมู่ ช.) อ๋อนางฟ้าน่าชื่นชม สวยจริงสวยจมงามตรงห่มสไบ

(สร้อย)

(ญ) รำคู่อยู่เคียงพี่ชาย หัวใจมันส่ายโยนซ้ายย้ายขวา เพลินคล้ายคนธรรพ์ เคล้าขวัญคล้อยฟ้า ไปค้างไปคา สุขาวดี สวรรค์สงกรานต์แสนสนานสนุก รำแล้วเป็นสุขทุกที
(ญ) ซิเออถึงว่าน่ะสิ สงกรานต์ทั้งทีรำกะพี่เรื่อยไป (หมู่ ญ) ซิเออถึงว่าน่ะสิ สงกรานต์ทั้งทีรำกะพี่เรื่อยไป

(สร้อย)

(สร้อย)

แดดเปรี้ยงเปรี้ยง
กลางเดือนเมษา
นำนาวามารดน้ำกัน
แดดมันร้อนระอุช่างมัน
มาร่วมกันเล่นน้ำสงกรานต์
โบราณมาประเพณีสืบไป
เราคนไทยช่วยกันสืบสาน
วัฒนธรรมด้านธรรมเนียมโบราณ
วันสงกรานต์กลางเดือนเมษา
ฮ้า ฮ้าฮา ฮ้าฮา ฮ้าฮา
ฮ้า ฮ้าฮา นาวาสงกรานต์
ทาแป้งสาวขาว ๆ ทาหน้า
บุษบานางฟ้าสงกรานต์
ตอนรำวงรำสนุกรำสนาน
ชวนนงคราญฟ้อนรำงามดี
ตีย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
กลอนกลองยาว
หนุ่มสาวร่วมยอน
ตีย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
ตีย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
ฮ้า ฮ้าฮา ฮ้าฮา ฮ้าฮา
ฮ้า ฮ้าฮา นาวาสงกรานต์
ต่างเล่าขานสืบสานกันมา
นำนาวามาเล่นสงกรานต์
ต่างก็แห่เข้ามาสำราญ
มาเล่นสงกรานต์บุญงานบ้านเรา
มาสืบสานตำนานกันไว้
มาร่วมใจเล่นน้ำสงกรานต์
น้ำปะแอ่งทาแป้งนงคราญ
ร่วมสืบสานนาวาสงกรานต์
ตี ย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
กลอนกลองยาวหนุ่มสาวร่วมยอน
ตี ย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
ตี ย่อน ๆ ตีตีตี ย่อน ๆ
ฮ้า ฮ้าฮา ฮ้าฮา ฮ้าฮา
ฮ้า ฮ้าฮา นา วา สงกรานต์

   
เพลง : รื่นเริงสงกรานต์
ศิลปิน : อบเชย เวียงพิงค์
เพลง : ตลุงสุขสงกรานต์
ศิลปิน : สุนทราภรณ์

มาหมู่เฮามา มาหมู่เฮามา
ร่วมเฮฮากันให้ชื่นบาน
เพราะเปิ้นมีงานเป๋นประเพณี
มาหมู่เฮามา มาร่วมบันเทิง
สนุกรื่นเริง เร้ารื่นฤดี
ก๋านประจำปี วันตรุษสงกรานต์
ลืมทุกข์โศกนานา
มาระรื่นชื่นบาน
สนุกสนานม่วนแท้หมู่เฮา
หนุ่มและสาวมีความสุข
สนุกกันหนักหนา
มาหมู่เฮามา มาแอ่วสงกรานต์
ให้เบิกบาน และชื่นอุรา
ทุกผู้ที่มาขอจงสำราญ

มาหมู่เฮามา มาหมู่เฮามา
ร่วมเฮฮากันให้ชื่นบาน
เพราะเปิ้นมีงานเป๋นประเพณี
มาหมู่เฮามา มาร่วมบันเทิง
สนุกรื่นเริง เร้ารื่นฤดี
ก๋านประจำปีวันตรุษสงกรานต์
ลืมทุกข์โศกนานา
มาระรื่นชื่นบาน
สนุกสนาน ม่วนแต่หมู่เฮา
หนุ่มและสาวมีความสุข
สนุกกันหนักหนา
มาหมู่เฮามา มาแอ่วสงกรานต์
ให้เบิกบาน และชื่นอุรา
ทุกผู้ที่มาขอจงสำราญ

โอ้วันนี้ วันนี้ปีไหน โชคดีเกิดมาเป็นไทย
ทุกคนได้สุขสันต์ ก็เป็นวัน ที่เราชื่นบาน
ร่าเริงพร้อมกันทุกย่าน สงกรานต์ที่ เวียนมา
เราไปวัดกัน วันเราพึ่งบุญ หวังไว้เป็นทุน
เกื้อผ่องบุญ อุ่นวิญญา วันสงกรานต์ ทุกบ้านมองหา
ศรัทธากล้า มุ่งทำบุญ หมุนชีพพลัน
วันสงกรานต์ ทุกบ้านมองหา ศรัทธากล้า
มุ่งทำบุญ หมุนชีพพลัน ร่วมสรงน้ำ สรงน้ำพระพุทธ
ให้ต่างเกิดมามีพุทธ พุทธเป็นสุขชีวัน
ต่างแบ่งบุญ ที่เราร่วมกัน ชั่วดี นี้คือใจมั่น
ยามเมื่อมัน ต้องการ สงกรานต์สมใจทุกคน
สมใจ สมใจ ทุกคน สำราญฤทัย
สงกรานต์ สงกรานต์ วัน สงกรานต์
ชื่นในดวงมาลย์ สุขสำราญ สาดน้ำให้พร

โอ้วันนี้ วันนี้ปีไหน
โชคดีเกิดมาเป็นไทย ทุกคนได้สุขสันต์
ก็เป็นวันที่เราชื่นบาน ร่าเริงพร้อมกันทุกย่าน
สงกรานต์ที่เวียนมา เราไปวัดกัน วันเราพึ่งบุญ
หวังไว้เป็นทุน เกื้อผ่องบุญ อุ่นวิญญา
วันสงกรานต์ ทุกบ้านมองหา ศรัทธากล้า
มุ่งทำบุญ หมุนชีพพลัน วันสงกรานต์ ทุกบ้านมองหา
ศรัทธากล้า มุ่งทำบุญ หมุนชีพพลัน
ร่วมสรงน้ำ สรงน้ำพระพุทธ ให้ต่างเกิดมามีพุทธ
พุทธเป็นสุขชีวัน ต่างแบ่งบุญ ที่เราร่วมกัน
ชั่วดี นี้คือใจมั่น ยามเมื่อมัน ต้อง การ
สงกรานต์สมใจทุกคน สมใจ สมใจ
ทุกคน สำราญฤทัย สงกรานต์ สงกรานต์
วันสงกรานต์ ชื่นในดวงมาลย์
สุขสำราญ สาดน้ำให้พร

   
เพลง : สงกรานต์กลับบ้านบ่
ศิลปิน : หมี งามดี
เพลง : สงกรานต์บ้านเรา
ศิลปิน : ยุ้ย ญาติเยอะ

แฟนจ๋าแฟนสงกรานต์สิกลับบ้านบ่
ใกล้มื้อแล้วหนองานบุญ 13 เมษา
อ้ายโทรมาถามคนงามอยากฮู้น้องหล้า
สิมากับรถผ้าป่าหรือจะมากับรถโดยสาร
แฟนจ๋าแฟนสงกรานต์สิกลับบ้านบ่
จ้อแล้วแหละหนออ้ายรอเจ้ามาเนิ่นนาน
ได้ฟังแต่เสียงเป็นปีคึดฮอดตาหวาน
อ้ายคอยเจ้าคืนมาบ้านตรุษสงกรานต์ม่วนกันคือเก่า
ผ้าป่าปีนี้เขาจ้างหมอลำคณะน้องใหม่
คุ้มเหนือคุ้มใต้ร่วมใจงานบุญบ้านเรา
ผูกข้อต่อแขนรดน้ำดำหัวผู้เฒ่า
ปี้ถึงสิบ่เหงาทางวัดเขาจัดกันยิ่งใหญ่

*แฟนจ๋าแฟนให้ฟ่าวเก็บเงินแน่เด๊อ
ฮอดมื้อได้เจอผ่อหน้าคงชื่นหัวใจ
คึดฮอดเจ้าหลายหัวใจอยากเคียงชิดใกล้
สงกรานต์บ้านเฮาปีใหม่อย่าพาผู้ใดมานำเด๊อนาง

(ซ้ำ*)

เทศกาลสงกรานต์บ้านเรา
สิ่งที่เคยซบเซาก็อึกทึกหึกเหิม
หนุ่มและสาวนับพันพากันรีบกลับบ้านเดิม
ต่างคนต่างเริ่มคืนมาเยี่ยมครอบครัว
ญาติผู้มีพระคุณสูงวัย
ลูกและหลานกลับไปก็ให้อาบน้ำดำหัว
ผ้าสะไบผ้าแพรซื้อไปให้พ่อแม่ตัว
ที่วัดจัดทั่วสรงน้ำพระร่วมกัน

*ส่วนเรามาเดินหาแว่น
จะซื้อฝากแฟนกับเพื่อนสักคนละอัน
ยกทรงอีกหนึ่งตัวนั้น
ขอเป็นของขวัญให้ตัวเองอย่างเดียว
กลับมาเล่นสงกรานต์บ้านเรา
ถูกคนล้วงกระเป๋าเอาไปหมดตัวเลยเชียว
ก็เลยเหลือยกทรงพร้อมแว่นฝากแฟนอย่างเดียว
คุณย่าตาเขียวเพราะลืมซื้อหมากมาฝากแก

   




วันสำคัญอื่นๆ
- วันลอยกระทง
- วันพ่อแห่งชาติ
- วันคริสต์มาส
- วันขึ้นปีใหม่
- วันครู
- วันวาเลนไทน์
- วันสงกรานต์
- วันสุนทรภู่





กลอน , เกมส์ , ดูดวง , อาหารเพื่อสุขภาพ , แชท , ฟังวิทยุออนไลน์ , ดูทีวีออนไลน์ , เรื่องตลก , เรื่องผี , ตัวอย่างหนัง , หาเพื่อน , มุม msn , วันสำคัญ , รวมของฟรี , อีการ์ด , อ่านข่าว , มือถือ , ทำนายฝัน , วัดความเร็วเน็ต , รถยนต์ , วอลล์เปเปอร์ , รูปการ์ตูน , เซียมซี , ชื่อมงคล , เนื้อเพลง , คอมพิวเตอร์ , อินเตอร์เน็ต , จัดอันดับเว็บไซต์ , เที่ยวเชียงราย , ปรับขนาดรูป , พยากรณ์อากาศ , ราคาน้ำมัน , ราคาก๊าซหุงต้ม , Hi5 , ผู้หญิง , ท่องเที่ยว , พระเครื่อง , แปลศัพท์ , โปรโมทเว็บฟรี
ลิงค์แนะนำ






- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)