บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)

บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)




บรูไนดารุสซาลาม Brunei Darussalam

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว
(ละติจูดที่ 5 เหนือเส้นศูนย์สูตร)
พื้นที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้เขตร้อน
เมืองหลวง บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan)
ประชากร 414,000 คน (2555)
ภาษาราชการ ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu)
ศาสนา อิสลาม (67%) พุทธ (13%) คริสต์ (10%) และฮินดู (10%)

การเมืองการปกครอง

ประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah)สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29
รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ (Prince Mohamed Bolkiah)
ระบอบการปกครอง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นองค์ประมุขผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เขตการปกครอง แบ่งเป็นสี่เขตคือ เขต Brunei-Muara เขต Belait เขต Temburong และเขต Tutong
วันชาติ 23 กุมภาพันธ์
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 1 มกราคม 2527

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจ
หน่วยเงินตรา บรูไนดอลลาร์ (1 บรูไนดอลลาร์ ประมาณ 23.2 บาท/ เมื่อ เม.ย. 2556)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 16.6 พันล้าน USD (2555)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 48,000 USD โดยประมาณ (2555)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.6 (2555)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและผลไม้
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนดารุสซาลาม

1.ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไนฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์ เสรีเบกาวัน คนปัจจุบัน คือ นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ และเอกอัครราชทูตบรูไนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ Dato Paduka Haji Kamis bin Haji Tamin
1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนฯ มีความใกล้ชิดและฉันมิตร โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงอยู่เสมอ บรูไนฯ เป็นพันธมิตรที่ดีของไทยต่อเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคี (อาทิ OIC สหประชาชาติ เอเปค) ปัจจุบัน มีกลไกกำกับความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – บรูไนฯ (Joint Commission for Bilateral Cooperation – JCBC) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ

2. ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง
ไทยและบรูไนฯ มีทัศนะทางด้านการทหารและความมั่นคงที่สอดคล้องกัน ความร่วมมือทางการทหารดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศ และมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการทหารและการส่งบุคลากรทางทหารเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
3.1 การค้า
บรูไนเป็นคู่ค้าของไทยลำดับที่ 9 ในอาเซียน และเป็นคู่ค้าของไทยลำดับที่ 71 ในระดับโลก ในปี 2555 การค้ารวมมีมูลค่า 632.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (19,658.37 ล้านบาท) ไทยส่งออกไปบรูไนมูลค่า 190.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,894.85 ล้านบาท) และนำเข้าจากบรูไน 442.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,763.52 ล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 251.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,868.66 ล้านบาท) สินค้าที่ส่งออกไปบรูไนฯ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์ยาง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น สินค้านำเข้าจากบรูไนฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

3.2 การลงทุน
3.2.1 การลงทุนของบรูไนฯ ในไทยที่สำคัญ คือ การลงทุนระหว่าง Brunei Investment Agency (BIA) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ในชื่อกองทุนไทยทวีทุน 1 มูลค่าประมาณ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 มีอายุกองทุน 8 ปี ทั้งนี้ กองทุนไทยทวีทุน 1 ได้หมดอายุลงเมื่อปี 2551 และเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 กบข. และ BIA จึงได้จัดตั้งกองทุนไทยทวีทุน 2 มูลค่าประมาณ 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอายุกองทุน 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนภายใต้ BOI จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการเอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายแผงวงจรไฟฟ้า
3.2.2 การลงทุนหลักของนักธุรกิจไทยในบรูไนฯ จะอยู่ในสาขารับเหมาก่อสร้าง/สถาปนิก ซึ่งมีบริษัทที่มีชื่อเสียงในบรูไนฯ คือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง Brunei Construction และบริษัทสถาปนิก Booty Edwards & Rakan-Rakan (การประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในบรูไนฯ จะต้องมีชาวบรูไนเป็นหุ้นส่วน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้กำหนดอัตราการถือหุ้นส่วนอย่างตายตัว) นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจขนาดย่อม ได้แก่ ร้านขายของ ร้านอาหาร และอู่ซ่อมรถ เป็นต้น
3.3 ด้านอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านแรงงาน ด้านการเกษตร และด้านสาธารณสุข ยังไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก เนื่องจากระบบการบริหารงานราชการของบรูไนฯ ที่มีความล่าช้า นอกจากนี้ การตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญจะต้องขึ้นตรงกับสมเด็จพระราชาธิบดีเท่านั้น

4. ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ
4.1 การเยือนที่สำคัญ

(1) ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
– เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงทำการบินโดยเครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินไทยมายังบรูไน

รัฐบาล
– เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2551 พล.ร.อ. สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนบรูไนเพื่ออำลาในโอกาสพ้นหน้าที่
– เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2552 พล.อ. ทรงกิตติ จักกาบาตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 28-30 เมษายน 2552 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยือนบรูไนเพื่อเข้าร่วมการประชุมย่อยในภูมิภาคระดับรัฐมนตรีว่าด้วยปัญหามลพิษ
– เมื่อวันที่ 3-4 มิถุนายน 2552 พล.อ.อ อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2552 นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคม 2552 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยือนบรูไน อย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุม SEMEO VOCTECH และร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาไทย-บรูไน
– เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 1 – 3 ตุลาคม 2553 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 12 – 16 ตุลาคม 2553 นายภิมุข สิมะโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยือนบรูไนฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม
– เมื่อวันที่ 7 – 13 พฤศจิกายน 2553 นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนามคม เยือนบรูไนฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting – ATM) ครั้งที่ 16 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Senior Transport Officials Meeting – STOM) ครั้งที่ 30
– เมื่อวันที่ 26 – 29 มกราคม 2554 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยือนบรูไนฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 46 (46th SEAMEC) และการประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 6 (6th ASED)
– เมื่อวันที่ 20 – 22 กุมภาพันธ์ 2554 พล.อ. ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมภริยาเดินทางเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน และรับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์
– เมื่อวันที่ 25 – 28 เมษายน 2554 พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของกองทัพเรือบรูไน
– เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนบรูไนฯ เพื่อเข้าร่วมในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงฮัจญะห์ ฮาฟิซาห์ ซูรูรุล โบลเกียห์ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน

(2) ฝ่ายบรูไน
พระราชวงศ์
– เมื่อวันที่ 11 – 14 มิถุนายน 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งบรูไน ได้เสด็จมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ระดับรัฐบาล
– เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนได้เสด็จมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
– เมื่อวันที่ 10 -12 เมษายน 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนเสด็จเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ครั้งที่ 12 และการประชุดสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ที่พัทยา
– เมื่อวันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2552 เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า คนที่ 1 เสด็จเยือนไทยเพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ที่จ.ภูเก็ต
– เมื่อวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2552 เจ้าหญิงมัสนา รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสด็จเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม Asean Socio-Cultural Community (ASCC) Council ครั้งที่ 1
– เมื่อวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 12 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ครั้งที่ 4 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
– เมื่อวันที่ 21 – 26 มีนาคม 2553 เปฮิน ดาโต๊ะ ฮัจญี ยาห์ยา (H.E. Pehin Dato Haji Yahya)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรพื้นฐานบรูไนฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– เมื่อวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2553 เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า คนที่ 1 เสด็จเยือนไทยเพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมประชุมเอเชีย – ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3 (AMED III) ที่กรุงเทพฯ
– เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2555 สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน เสด็จเยือนปรเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

4.2 การประชุมที่สำคัญ
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไน (Joint Commission for Bilateral Cooperation : JCBC) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2546

ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทย – บรูไน
(1) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างและพ้นจากอาณาเขตของไทยและบรูไนฯ ลงนามเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530
(2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – บรูไนฯ ลงนามเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542
(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศและการกระจายเสียงและภาพระหว่างไทย – บรูไนฯ ลงนามเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544
(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการลงทุนระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กับ Brunei Investment Agency ลงนามเมื่อวันที่ 27สิงหาคม 2545
(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบรูไนฯ และ บริษัทเจียเม้ง จำกัด ลงนามเมื่อวันที่ 27สิงหาคม 2545
(6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการลงทุนระหว่าง Brunei Investment Agency และ the Biz Dimension Co. Ltd.ลงนามเมื่อวันที่ 27สิงหาคม 2545
(7) พิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547
(8) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาระหว่างไทยกับบรูไนฯ ลงนามเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552
(9) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับบรูไนฯ ลงนามเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553

5.เรื่องอื่น ๆ
ปัจจุบันบรูไนหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับและพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยจะพัฒนาการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งจะนำไปสู่การเกษตรเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นให้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์




NO COMMENTS

Leave a Reply