หลวงปู่แหวน

ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หรือที่รู้จักกันในนาม “พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม” มีนามเดิมว่า “ญาณ” โยมบิดาชื่อ นายใส โยมมารดาชื่อ นางแก้ว รามศิริ อาชีพทำนาและตีเหล็ก เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2430 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง บ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบัน เป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย หมู่ 2 ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพี่น้อง 2 คน ท่านเป็นคนที่ 2

ท่านออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมีจิตมุ่งมั่นจะอยู่ในสมณเพศ ตามแนวความคิดของมารดาเมื่อครั้งยังมีชีวิต เมื่อออกบรรพชาเป็นสามเณรนั้นได้บวชในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แหวน” สามเณรแหวนสนใจปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ในตำราต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง แม้ด้วยวัยเพียง 13 ปี ท่านก็สามารถอ่านตำราในใบลานได้ทั้งภาษาขอม และภาษาล้านนาจนแตกฉาน ในด้านความประพฤติตนของสามเณรแหวนนี้เป็นที่น่าเลื่อมใสและก่อศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านขยันเจริญสมาธิ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่เสพเนื้อสัตว์ บุคลิกลักษณะสุขุม พูดน้อย ดูเคร่งขรึมสมกับการครองเพศสมณะ อาจารย์อ้วน ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสามเณรแหวน ได้พิจารณาส่งเสริมความตั้งใจศึกษาของหลานเป็นอย่างดี ได้นำไปฝากเรียนธรรมและวิชาการอื่นๆ ที่สำนักสงฆ์วัดนาสัก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้ไปเรียนต่อ ณ สำนักสงฆ์วัดสร้างถ่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดนี้ ได้มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางภาษาบาลี ภาษาไทย ทำให้ได้เข้าใจและรู้แจ้งในธรรมะขึ้นอีก ความใฝ่รู้ของท่านทำให้รู้และเริ่มเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ประกอบไปด้วย

เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อนอก (ห่างจากวัดสร้างถ่อเล็กน้อย) บวชในฝ่ายมหานิกายเช่นเดิม ได้ศึกษาธรรมวินัย ธรรมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผู้รอบรู้ทั้งปริยัติธรรมตลอดจนถึงวิชาอาคมอย่างกว้างขวาง จากความที่ท่านเป็นผู้ชอบแสวงและใฝ่หาความรู้นั้นเอง จึงเกิดความคิดที่จะออกเสาะหาอาจารย์ผู้ที่จะประสิทธิ์ความรู้ให้แก่ท่านต่อไปอีก จึงได้ออกเดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ขณะที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เริ่มออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมขธรรมนั้นอายุได้ประมาณ 30 ปี บ่อยครั้งจากการธุดงค์ได้พบสหายธรรมจากที่ต่างๆ บ้างก็เป็นพระสงฆ์ในแนวมหานิกายด้วยกัน บ้างก็เป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่ก็มีความผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดกระทั่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดต่างๆ แก่กันเสมอ ผู้ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ และได้คบหากันต่อมาก็คือ หลวงปู่ตื้อ อาจลธรรมโม ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งกำลังเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และกำลังออกสั่งสอนธรรมปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานขณะนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้พบและฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น บังเกิดความซาบซึ้ง และทราบว่าเป็นทางแห่งการแสวงหาธรรมตามที่ประสงค์

หลังจากหลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น และได้เดินทางธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ โดยเดินทางไปจากภาคอีสานไปสู่ประเทศลาว เขมร เวียดนาม พม่า จนกระทั่งทะลุผ่านกลับสู่ประเทศไทย ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วกลับมาสู่อีสานแล้ว ต่อมาอีกไม่นาน (ประมาณอายุ 33 ปี) หลวงปู่แหวนได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ไปจำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้หลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกครั้ง พร้อมทั้งได้ขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ นับแต่นั้นหลวงปู่แหวนก็ได้ออกธุดงคกรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือตลอดมา จวบจนได้พบวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และได้ทำการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปถึงทุกวันนี้ ปีพ.ศ.2489 หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋งพยาบาลอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธจึงดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆไม่ได้

นับแต่นั้นมาอาจารย์หนูได้พยาบาลอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูแลหลวงปู่แหวน ต่อมาท่านอาจารย์หนูได้ดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่มีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระอาจารย์หนูเท่านั้น เพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋งยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี ปีพ.ศ.2505 ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดเป็นเสียงหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาที่หูว่า จะมาอยู่ด้วยคนนะ หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวนอีกสามวัน พระอาจารย์หนูได้ถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่อยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาที่วัดดอยแม่ปั๋งด้วย เมื่อหลวงปู่แหวนได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ครั้งแรกท่านพักอยู่ที่กุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง การมาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งนี้ ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนูว่า หน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น หลวงปู่แหวน จะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยโคตรอริยวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน

นับตั้งแต่หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นเลย เพราะอากาศทางภาคเหนือสัปปายะ สำหรับท่าน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋งได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ บางแห่งก็ว่าที่โรงพยาบาลมหาราช เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2528 สิริอายุ 98 ปี มีผู้กล่าวถึงหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมและมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานา หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้หยุดชีวิตธุดงควัตรของท่านเพื่อพำนักอย่างจริงจังในวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีผู้นิยมเลื่อมใสและศรัทธาในวัตถุมงคลของท่านมาก พระเครื่องหลวงปู่แหวน ต่างก็พยายามหามาไว้เป็นสิริมงคลแก่ตัว เพราะต่างร่ำลือในความขลังจากการปลุกเสกของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่เริ่มเป็นที่รู้จัก

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ มาอยู่ที่วัด ดอยแม่ปั๋ง ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ และท่านเริ่มเป็นที่รู้จัก ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๔

กล่าวกันว่า หลวงปู่แหวน ได้เป็นที่รู้จักภายหลังที่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพ มรณภาพ เมื่อ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๔

ในช่วงที่ประชาชนกำลังพูดถึงเรื่องท่านเจ้าคุณนรฯ อยู่นั้นก็มีข่าวแพร่ออกมาว่า “ท่านเจ้าคุณ นรฯ กล่าวว่ามีพระอริยะอีกองค์หนึ่ง อยู่ทางภาคเหนือ”

ไม่ทราบข่าวนี้มาจากไหน และใครได้ยินท่านเจ้าคุณนรฯ พูด ทำให้หลายคนพากันเสาะหา พระอริยะองค์นั้น ต่อมาก็มีข่าวว่า “พระอริยะองค์ที่ท่านเจ้าคุณนรฯ กล่าวถึงคือ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งดอยแม่ปั๋ง นั้นเอง”

และในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีคณะทหารอากาศชุดของนาวาเอก เกษม งามเอก ได้มาขออนุญาตสร้างเหรียญหลวงปู่ขึ้น บางเสียงก็บอกว่าเป็นเหรียญรุ่นแรก และบางเสียงก็ว่า เป็นเหรียญรุ่นที่สองของหลวงปู่ เอาไว้ให้พวกนิยมเหรียญเขาถกเถียงกันก็แล้วกัน

ต่อจากนั้นก็มีข่าวอีกว่า “หลวงปู่แหวนลอยอยู่บนเมฆ เครื่องบินจะชน”

เรื่องเกรียวกราวกันพักใหญ่ ทำให้ชื่อเสียงหลวงปู่โด่งดังขึ้นมา จนใครต่อใคร ก็พากันแห่ไปชมบารมีหลวงปู่อย่างเนืองแน่นทุกวัน

คณะทัวร์ทุกคณะที่ไปเชียงใหม่ จะต้องมีรายการชมดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และก็มีวัดดอยแม่ปั๋ง อยู่ด้วยเสมอ นับเป็นสถานที่ยอดนิยมในสมัยนั้น

หลวงปู่เป็นพระดังแห่งยุค

หลวงปู่แหวน ท่านท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรอยู่นานกว่า ๕๐ ปี ประชาชนทั่ว ไปจึงไม่รู้จักท่าน เพิ่งจะมาได้ข่าวคราวและรู้จักหลวงปู่ ก็ประมาณปลายปี ๒๕๑๖ เมื่อหนังสือพิมพ์นำประวัติและเรื่องราวอภินิหารต่างๆ ของหลวงปู่มาเผยแพร่

ในหนังสือ พระธาตุปาฎิหาริย์ ของนิตยสารโลกทิพย์ ได้นำลงเรื่องคำบอกเล่าของ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงปู่แหวน ตอนที่ท่านเริ่มดัง ผู้เขียนขอคัดลอกนำมาเสนอ ดังต่อไปนี้ :-

“หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เล่าว่า มีทหารอากาศ ขับเครื่องบินเหาะข้ามวัดดอยแม่ปั๋งไป นักบิน คนนั้นตกใจจนหูตาเหลือก เพราะพบหลวงปู่ผู้เฒ่านั่งอยู่บนก้อนเมฆขวางทางบินอยู่ ต้องรีบบังคับเครื่องหลบ ตาลีตาเหลือก ขาบินกลับก็พบหลวงปู่องค์เดิมอยู่บนก้อนเมฆอีก

เมื่อนำเครื่องบินร่อนลงสนามแล้ว นักบินนายนั้นได้ไปกราบนมัสการ เจ้าคณะเชียงใหม่ เรียนถามว่า ที่เชียงใหม่มีพระ องค์ไหนดีบ้าง ที่มีปาฎิหาริย์พิเศษ

เจ้าคณะจังหวัดบอกว่า เห็นมีอยู่องค์หนึ่ง คือหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง หรือดอยสีม่วง (ปั๋ง ภาษาเหนือแปลว่า สีม่วง) แม่ปั๋ง เพื่อที่จะพิสูจน์ดูให้เห็นกับตา เมื่อไปถึงวัดก็พบว่า มีผู้คนมากมาย จากสารทิศต่างๆ มารอพบหลวงปู่แหวน เต็มวัดไปหมด

ปกติหลวงปู่แหวน ไม่ยอมออกมาพบปะผู้ใดง่ายๆ แม้แต่งานฉลองอายุครบรอบของท่าน ที่คณะศิษย์ยานุศิษย์ตลอดจนผู้ที่เคารพเลื่อมใส จากทั่วทุกสารทิศ หลั่งไหลไปจัดงานขึ้น ผู้คนแน่นวัด มืดฟ้ามัวดิน รถราจอดเต็มดอยไปหมด หลวงปู่แหวนก็ไม่ยอมออกมาจากห้องให้สรงน้ำ หรือให้กราบสักการะ แจกของชำร่วย อย่างงานวันเกิดของพระเถระอื่นๆ

หลวงปู่แหวนยังคงเก็บตัวอยู่แต่ในห้องและหนีคนอย่างอุปนิสัยแต่เดิมของท่าน ท่านจะออกมาจากห้องเป็นปกติ ก็เฉพาะเวลาฉันจังหันเช้า และเจริญพระพุทธมนต์ค่ำเท่านั้น

ทหารอากาศนายคนนี้ไปตอนเช้า พอได้เวลาหลวงปู่แหวน อออกจากห้องมาฉันอาหารเช้า ก็จ้องมองด้วยความตะลึง จำได้ทันทีว่า พระผู้เฒ่าองค์นี้จริงๆ ที่เขาพบบนก้อนเมฆขณะขับ เครื่องบินผ่านดอยแม่ปั๋งไป

เขาจึงแหวกผู้คนเช้าไปกราบนมัสการแทบเท้าหลวงปู่แหวน ด้วยความเคารพเลื่อมใส อย่างสูงสุด น้ำตาไหล ปลาบปลื้มใจ ตื้นตันใจ ที่ตนได้มีบุญได้พบเห็นตัวจริงของหลวงปู่แหวน”

นี่แหละครับ เป็นเหตุการณ์หนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนทั่วทุกสารทิศ หลั่งไหลมากราบหลวงปู่แหวน แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง ทำให้ท่านเป็นพระดังแห่งยุค

พระมหากรุณาธิคุณ

หลวงปู่แหวน-สุจิณโณ

นับแต่โบราณกาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีพระคณาจารย์รูปใดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เท่าหลวงปู่แหวน ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

นอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อนมัสการและสนทนาธรรม กับหลวงปู่หลายครั้งหลายครา แล้วยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จัดสร้างสิ่งมงคล โดยใช้รูปของหลวงปู่ นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญ

หลวงปู่แหวน จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกในประเทศไทย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่ง และนอกจากล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ได้ทรงพระกรุณา เสด็จเยี่ยมหลวงปู่อยู่เนืองๆ

ข้าราชบริพารผู้หนึ่ง ได้เปิดเผยถึงหลวงปู่กับล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ภายหลังจากที่ข่าวพระองค์ทรงประชวรและประทับที่เชียงใหม่แล้ว หลังจากนั้น ก็เสด็จดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

“พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย”

เมื่อได้ฟังหลวงปู่กล่าวเช่นนั้น ล้นเกล้าฯ ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัย

มีข่าวอีกครั้งหนึ่งว่า สมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ที่เชียงใหม่นั้น ข้าราชบริพาร ได้นำเฮลิคอบเตอร์มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปที่พระตำหนักเพื่อแผ่พลังจิต ช่วยรักษาอาการประชวรของพระองค์ท่าน

หลวงปู่ท่านปฎิเสธการนิมนต์ และได้บอกว่า “อยู่ที่ไหน ฮาก็ส่งใจไปถึงพระองค์ได้ ก็ส่งไป ทุกวันอยู่แล้ว”

หลวงปู่แหวน ท่านตั้งสัจจธิษฐานว่า แม้ท่านจะเจ็บป่วยก็ไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ในช่วงท้ายของชีวิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาราธนา ท่านจึงยอมทำตาม และบอกว่า ในฐานะประชาชน หลวงปู่จึงไม่กล้าขัดพระราชประสงค์ได้

สำหรับบทสวดที่หลวงปู่แหวน ท่านใช้ในพิธีแผ่เมตตา ท่านจะใช้บท ติรตนนมการคาถา อ่านว่า ติระตะนะนะมะการะคาถา หรือ บททำวัตรพระ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

โย สันนิสินโน วะระโพธิมูเล มารัง สะเสนัง สุขิตัง วิชเชยยะ สัมโพธิมาคัจฉิ อะนันตะญาโณ

โลกุตตะโม ตัง ปะณะมามิ พุทธัง เย จะ พุทธา อะตีตา เย จะ พุทธา อะนาคะตา ปัจจุปันนา จะ เย

พุทธา อะหัง วันทามิ สัพพะทาๆ

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณสัมปันโน สุคะโค โลกะวิทู อะนุตตะโร

ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

พุทธัง ชิวิตัง ยะวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง อุตตะมัง เคนะ วันเทหัง ปาทะปังสุง วะรุตตะมัง พุทเธ โย ชะลีโต โทโส พุทโธ ขะมะตุ ตัง มะมัง

“ อัฎฐังคิโก อะริยะปะโถ ชะนานัง โมกขัปปะเวสายะ อุชุ จะ มัคโค ธัมโม อะยัง สันติกะโร ปะณีโต นิยยานิโก ตัง ปะณะมามิ ธัมมัง เย จะ ธัมมา อะตีตา จะ เย จะ ธัมมา อะนาคะตา ปัจจุปันนา จะ เย ธัมเม อะหัง วันทามิ สัพพะทา

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฎฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิสตัพโพ วิญญูหีติ

ธัมมัง ชีวิตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง อุตตะมังเคนะ วันเทหัง ธัมมัญจะ ทุวิธัง วะรัง ธัมเม โย ชะลิโต โทโส ธัมโม ขะมะตุ ตัง มะมัง

สังโฆ วิสุทโธ วะระทักขิเณยโย สันตินทริโย สัพพะมะลัปปะหิโน คุเณหิ เนเกหิ สะมิทธิปัตโต อะนาสะโว ตัง ปะณะมามิ สังฆัง เย จะ สังฆา อะตีตา จะ เย จะ สังฆา อะนาคะคา ปัจจุปันนา จะ เย สังฆา อะหัง วันทามิ สัพพะทา

สุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฎฐะ ปุริสะ ปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญังเขตตัง โลกัสสาติ

สังฆัง ชีวิตัง ยะวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะ มังคะลัง อุตตะมังเคนะ วันเทหัง สังฆัญจะ ทุวิธุตตะมัง สังเฆ โย ชะลิโต โทโส สังโฆ ขะมะตุ ตัง มะมัง

อิจเจวะมัจจันะนะมัสสะเนยยัง นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง ยัง ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง ตัสสานุเภนะ หะตันตะราโย

t-หลวงปู่แหวน
อัฐิธาตุของหลวงปู่ที่กลายเป็นพระธาตุ

วีดีโอ ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ