อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่


      อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว  
อ. น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์
 

รายละเอียด
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก อำเภอห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวมีเนื้อที่ 125,110 ไร่ หรือ 200.18 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แต่เดิมเป็นวนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้สำรวจจัดตั้งเป็นวนอุทยาน แห่งชาติภูสอยดาว โดยสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 มีพื้นที่เพียง 20,000 ไร่ จนกระทั่งปีงบประมาณ 2535 กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่เดิมของวนอุทยานภูสอยดาว ผลการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และในเขตป่าไม้ถาวรตามป่าภูสอยดาวท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เนื้อที่รวม 48,962.5 ไร่ หรือ 78.34 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกได้มีหนังสือที่ กษ 0725.07/5819 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2536 เรื่อง ขอจัดตั้งวนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบว่า พื้นที่วนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน บางจุดสูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อประเทศลาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ มีจุดเด่นที่น่าสนใจเป็นที่ดึงดูดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม ได้แก่ น้ำตก 5 ชั้น ชื่อว่า ภูสอยดาว มีเนื้อที่กว้าง 1,000 ไร่ มีความสวยงามมากและพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถผนวกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรที่จะรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

ปัจจุบันคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแล้ว และอยู่ในขั้นตอนจัดทำ/ปรับปรุง/แก้ไข รายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติต่อไป

ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ เป็นเทือกเขากั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,800 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค และลำน้ำปาด

ลักษณะภูมิอากาศ
อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงเฉลี่ย 35.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไป 27.0 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,334.4 มิลลิเมตร/ปี ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีความหลากหลายผสมกัน มีความต่าง ระดับของพื้นที่มาก ในพื้นที่ประกอบด้วย

ป่าสนเขา พบขึ้นในระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,400 เมตรขึ้นไป เป็นป่าผืนใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่ม ชนิดไม้ที่สำคัญที่พบได้แก่ สนสามใบ ก่อชนิดต่างๆ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าชนิดต่างๆ ดอกไม้ดิน เช่น ดอกหงอนนาค ดอกกุง เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบในพื้นที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่ขึ้นประกอบด้วย ก่อ ทะโล้ จำปาป่า กำลังเสือโคร่ง พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยเป็นพวกพืชในตระกูลขิง ข่า กูด กล้วยไม้ เป็นต้นไม้พุ่มชนิดต่างๆ

ป่าดิบชื้น พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตอุทยานห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-1,000 เมตร พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ กระบาก ยาง จำปีป่า พะอง ก่อเดือย ก่อรัก พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ สะบ้า กูด และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

ป่าดิบแล้ง พบมากตอนกลางของพื้นที่อุทยานแห่งชาติในบริเวณที่เป็นหุบเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นมี ตะแบกใหญ่ สมพง พะยอม ตะเคียนทอง มะค่าโมง ยมหอม กระบก ฯลฯ

ป่าเบญจพรรณ พบอยู่ทั่วไปในแขตอุทยานแห่งชาติ ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 300-600 เมตร บริเวณที่ราบเชิงเขา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะแบก แดง ชิงชัน ประดู่ สมอพิเภก ตีนนก ตะคร้ำ พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่และหญ้าชนิดต่างๆ

ป่าเต็งรัง พบขึ้นในพื้นที่บริเวณตอนล่างและตอนบน ขึ้นอยู่ในไหล่เขา เนินเขา และบริเวณที่ราบซึ่งเป็นดินลูกรัง ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง มะขามป้อม ส้าน อ้อยช้าง มะกอกป่า พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้าคา และหญ้าเพ็ก เป็นต้น

ส่วนสัตว์ป่ามีอยู่ชุกชุมหลายชนิดที่พบเห็นและปรากฏร่องรอยได้แก่ เลียงผา กวางป่า เสือโคร่ง เก้ง หมีควาย หมูป่า ลิง อีเห็น เม่น กระต่ายป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ นกเขาไฟ นกขุนทอง นกกระปูดใหญ่ งูจงอาง งูเหลือม ตะกวด ตะพาบน้ำ เป็นต้น

การเดินทาง
- จากจังหวัดพิษณุโลก ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร

- จากจังหวัดอุตรดิตถ์ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 (อุตรดิตถ์-น้ำปาด) จนถึงอำเภอน้ำปาดแล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 ไปอีก 47 กิโลเมตร จึงเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร





ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต

Bookmark and Share

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว :

Tags : อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ. น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ 

























อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่




 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]