ประวัติวันแห่งสันติภาพไทย อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ เหรียญสันติมาลา ปรีดี พนมยงค์

16 สิงหาคม "วันสันติภาพไทย"



16 สิงหาคม "วันสันติภาพไทย"

           16 สิงหาคมของทุก ๆ ปีเป็น “วันแห่งสันติภาพ” วันสำคัญของชาติไทยประเภทที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ อย่างเป็นทางการตามประกาศของรัฐบาลไทยเมื่อปี 2538 ในยุคนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (ปี 2535 – 2538) อันเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของวันที่ 16 สิงหาคม 2488


ประวัติ ความเป็นมาวันแห่งสันติภาพ


           วันที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ในพระปรมาภิไธยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสันติภาพให้แก่ประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ 1 วัน ถือเป็นหนึ่งในคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศไทยประการหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ได้บำเพ็ญไว้ ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในทางเปิด และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในทางลับ เป็นการทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม

           นับแต่วันที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ท่านปรีดี พนมยงค์ก็นัดหมายบุคคลใกล้ชิดมาหารือกันในตอนค่ำวันเดียวกันทันทีที่บ้านถนนสีลม บรรลุหลักการจัดตั้งขบวนการกู้ชาติเพื่อต่อต้านศัตรูผู้รุกรานอธิปไตยขึ้นในทันที เพราะเชื่อว่าโดยรัฐบาลไทย ในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะยอมรับเป็นพันธมิตร กับผู้รุกรานด้วยความจำเป็น ขบวนการกู้ชาติในชั้นต้นใช้ชื่อว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่น !

           ภารกิจมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังคนไทยผู้รักชาติทั้งในประเทศและต่างประ เทศ รวมทั้งร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญคือ จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตร เห็นและรับรองในเจตนารมณ์อันแท้จริง ของคนไทยด้วย

           เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 ภารกิจของขบวนการกู้ชาติก็เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง คือจะต้องปฏิบัติการ เพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทย จะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาหลังสงครามยุติ ที่ตั้งในชั้นต้นของกองบัญชาการ ของขบวนการกู้ชาติอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องเพราะท่านปรีดี พนมยงค์ยังคงดำรงตำแหน่ง ผู้ศาสน์การอยู่และอยู่ใกล้กับบ้านพักรับรองของท่านบริเวณท่าช้าง

           บ้านพักรับรองที่เคยเรียกขานกันในยุคนั้นว่า “ทำเนียบท่าช้าง” นั้นปัจจุบันได้รับการจำลองแบบมาสร้างไว้บนเนื้อที่ 150 ไร่แบ่งออกมาจากสวนน้ำบึงกุ่มที่มีอยู่ 360 ไร่ เพื่อเป็นหอเกียรติภูมิ และเกียรติประวัติระลึกถึงวีรกรรม ของสมาชิกขบวนการเสรีไทย อันเป็นดำริเริ่มต้นจากทายาทสมาชิก ขบวนการเสรีไทยและสมาชิกขบวนการเสรีไทย ที่ยังเหลืออยู่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี พอสมควรจากกรุงเทพมหานครในยุคนั้น เพิ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา





อาคารเสรีไทยอนุสรณ์

           อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ส่วนบริเวณพื้นที่โดยรอบ และถนนด้านหน้า ก็ได้รับการขนานนาม ขึ้นมาใหม่ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้สอดคล้องต้องกัน “สวนเสรีไทย” “ถนนเสรีไทย”ท่านปรีดี พนมยงค์กระทำการครั้งนั้นเพื่อชาติโดยแท้ ไม่มีวาระซ่อนเร้น เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง เฉพาะตัวแอบแฝงงาน ของขบวนการเสรีไทย เป็นไปในลักษณะเฉพาะหน้า เฉพาะกิจ เฉพาะกรณีเมื่อจบภารกิจก็ยุติบทบาทสลายกำลัง - วางอาวุธ !

           ต้องเข้าใจนะครับว่าเสรีไทยสมัยนั้น มีอาวุธทันสมัยจำนวนมากที่ได้รับจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซุกซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมการจับอาวุธลุกขึ้นสู้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่บังเอิญสงครามยุติลงเสียก่อน วันจับอาวุธเลยไม่เกิดขึ้น และเสรีไทยก็ไม่ได้ใช้อาวุธนั้น มายึดอำนาจทางการเมือง

           ในการสวนสนามของพลพรรคขบวนการเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนินกลางเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2488 ที่ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นประธานในพิธีนั้น มีกองกำลังเสรีไทยเข้าร่วมประมาณ 8,000 คน พร้อมด้วยอาวุธทันสมัย ที่ได้รับจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คำปราศรัยอันเป็นประวัติศาสตร์ ของท่านผู้เป็นประธานมีอยู่ตอนหนึ่งว่า

           “เราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวัง ทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลาย ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคล หรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล การกระทำคราวนี้มิได้ตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484......

           “วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัด และมีเงื่อนเวลาสิ้นสุด กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว ก็จะเลิก สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำ ของเราทั้งหลายก็คือ มิตรภาพอันดี ในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิด ที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การ ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง”

           รัฐบาลในยุคนั้นประกาศพระราชกฤษฎีกา สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นมา เพื่อมอบให้แก่สมาชิกขบวนการเสรีไทย เพื่อเป็นการตอบแทนวีรกรรม ตอบแทนความเสียสละ ที่ร่วมรับใช้ชาติในภาวะคับขัน



เหรียญสันติมาลา

           เหรียญสันติมาลา เมื่อจัดสร้างเสร็จแล้ว ยังไม่ทันที่จะมีพิธีแจกเหรียญอย่างสมเกียรติ ก็เกิดการรัฐประหาร อันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ การเมืองไทยขึ้นเสียก่อนในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้น ตัดสินใจ “รับเชิญ” จากคณะทหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะจำใจ “รับเชิญ” ให้ลาออกไปในเวลาไม่นาน แต่ระหว่างที่บริหารประเทศอยู่นั้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์สั่งระงับการแจกเหรียญสันติมาลา และสั่งให้เอาเหรียญดังกล่าวที่ทำไว้เสร็จสรรพแล้ว ส่งให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ยุบหลอมทำเป็นเหรียญสลึงเหรียญห้าสิบสตางค์ ใช้ไปให้หมด ท่านปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยไปยังต่างแดน และเสียชีวิตนอกมาตุภูมิในที่สุดเมื่อปี 2526





ขอขอบคุณ : sanook.com เอื้อเฟื้อข้อมูล


วันสำคัญอื่นๆ
- วันลอยกระทง
- วันพ่อแห่งชาติ
- วันคริสต์มาส
- วันขึ้นปีใหม่
- วันครู
- วันวาเลนไทน์
- วันสงกรานต์
- วันสุนทรภู่





กลอน , เกมส์ , ดูดวง , อาหารเพื่อสุขภาพ , แชท , ฟังวิทยุออนไลน์ , ดูทีวีออนไลน์ , เรื่องตลก , เรื่องผี , ตัวอย่างหนัง , หาเพื่อน , มุม msn , วันสำคัญ , รวมของฟรี , อีการ์ด , อ่านข่าว , มือถือ , ทำนายฝัน , วัดความเร็วเน็ต , รถยนต์ , วอลล์เปเปอร์ , รูปการ์ตูน , เซียมซี , ชื่อมงคล , เนื้อเพลง , คอมพิวเตอร์ , อินเตอร์เน็ต , จัดอันดับเว็บไซต์ , เที่ยวเชียงราย , ปรับขนาดรูป , พยากรณ์อากาศ , ราคาน้ำมัน , ราคาก๊าซหุงต้ม , Hi5 , ผู้หญิง , ท่องเที่ยว , พระเครื่อง , แปลศัพท์ , โปรโมทเว็บฟรี
ลิงค์แนะนำ






- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)