วันจักรี จักรี ประวัติวันจักรี ตราราชวงศ์จักรี ความเป็นมาวันจักรี 6 เมษายน ของทุกปี


ความหมาย




           วันจักรี หมายถึง วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ
ประวัติ ความเป็นมา


           วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าวันจักรี นั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธี ทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะ ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา

           ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น

           ต่อมาทรงพระราชดำริว่า พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคม สักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาท พระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญ พระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท มาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับอันเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์(ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาลครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน)

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี(ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบ ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการ ประจำปีกำหนดใน วันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบไป

           ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐาน พระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร โดยเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงบรรจุพระบรมทนต์พระสุพรรณบัฎจารึก พระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐

           ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี ๒๔๗๕ อายุพระนครจะบรรจบครบ ๑๕๐ ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฎแก่อารยชนในนานาประเทศ ว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ ที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานีแล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมาทรงปรึกษาพระราชปรารภ แก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี ๒ สิ่งประกอบกัน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ศาสตรจารย์ศิลปพีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน อำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วน ๑ รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินส่วน ๑ อีกส่วน ๑ ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อ วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันครบ ๑๕๐ ปี และมีการพระราชพิธี เฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร

           ครั้นถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๓ เมษายนพ.ศ. ๒๕๐๒ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุเส้นพระเจ้า(เส้นผม) พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ลงในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุพระกรัณฑ์ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูป และในพระราชพิธีนี้ได้ทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ลงในพระกรัณฑ์ทองคำลงยาแล้วทรงบรรจุ ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

           การถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดรเป็นราชประเพณีประจำปี ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๑ เป็นต้นมา ครั้นได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประดิษฐาน ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องในการเฉลิมพระนครบรรจบครบ ๑๕๐ ปีแล้ว ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีและเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่ง กำหนดให้หยุดราชการและให้ ชักธงชาติ และได้กำหนดให้มี การถวายบังคมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ปฐมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวัง ได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ไปถวายสักการะพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร

           การถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์นั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา เป็นการเสด็จของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินถวาย พวงมาลาเป็นราชสักการะ ภายหลังจากนั้นทรงมีพระราชปรารถพระราชทาน พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์)เลขาธิการพระราชวัง ว่าการวางพวงมาลาตามคตินิยมของชาวไทย ใช้สำหรับการไว้อาลัยแก่ชีวิตของผู้ที่จากไป แต่วันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายนนั้น เป็นมงคลดิถีคล้ายวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี การถวายพวงมาลาจึงไม่เป็นการงดงามเหมาะสม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ สำนักพระราชวังได้เปลี่ยนเป็น จัดพานพุ่มดอกไม้สดทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องราชสักการะอนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สาธุชนเข้าถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร ตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๘ นาฬิกา




พระราชประวัติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2327 - 2352)


           ท่านพระนามเดิม "ทองด้วง" เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี) ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2378 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในพ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เข้ารับราชการกับ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ ศึก ใน พ.ศ. 2319
           เมื่อถึง พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ใน พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ ในรัชกาลได้แก่การสงคราม เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2327 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ ชำระกฎหมายบทต่างๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆ เป็นอันมาก
ทางด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้ กลับคืนดีอีกวาระหนื่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้าง พระอารามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้
ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ วันที่ระลึกมหาจักรี ได้แก่วันที่ 6 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า



ตราราชวงศ์จักรี


ตราราชวงศ์จักรี





วันสำคัญอื่นๆ
- วันลอยกระทง
- วันพ่อแห่งชาติ
- วันคริสต์มาส
- วันขึ้นปีใหม่
- วันครู
- วันวาเลนไทน์
- วันสงกรานต์
- วันสุนทรภู่





กลอน , เกมส์ , ดูดวง , อาหารเพื่อสุขภาพ , แชท , ฟังวิทยุออนไลน์ , ดูทีวีออนไลน์ , เรื่องตลก , เรื่องผี , ตัวอย่างหนัง , หาเพื่อน , มุม msn , วันสำคัญ , รวมของฟรี , อีการ์ด , อ่านข่าว , มือถือ , ทำนายฝัน , วัดความเร็วเน็ต , รถยนต์ , วอลล์เปเปอร์ , รูปการ์ตูน , เซียมซี , ชื่อมงคล , เนื้อเพลง , คอมพิวเตอร์ , อินเตอร์เน็ต , จัดอันดับเว็บไซต์ , เที่ยวเชียงราย , ปรับขนาดรูป , พยากรณ์อากาศ , ราคาน้ำมัน , ราคาก๊าซหุงต้ม , Hi5 , ผู้หญิง , ท่องเที่ยว , พระเครื่อง , แปลศัพท์ , โปรโมทเว็บฟรี
ลิงค์แนะนำ






- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)