อาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา ตักบาตร วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


ความเป็นมา




          วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้ และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะ ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือ ญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเมื่อวันี้ของทุก ๆ ปี เวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่ง ยังตั้งชื่อ วันอาสาฬหบูชานี้ว่า "วันพระสงฆ์" ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน ๘ อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ความสำคัญ ของวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ มีอยู่อย่างไร จะได้นำพุทธประวัติตอนหนึ่งมาเล่าต่อไปนี้ นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์ คือ
          สัปดาห์ที่ ๑ คงประทับอยู่ที่ควงไม้อสัตถะอันเป็นไม้มหาโพธิ์ เพราะเป็นที่ตรัสรู้ ทรงใช้ เวลาพิจรณาปฏิจจสมุปปาทธรรมทบทวน อยู่ตลอด ๗ วัน
          สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ประทับยืนกลางแจ้งเพ่งดูไม้มหาโพธิ์โดย ไม่กระพริบพระเนตรอยู่ในที่แห่งเดียว จนตลอด ๗ วัน ที่ที่ประทับยืนนั้นปรากฎเรียกในภายหลังว่า "อนิสิมสสเจดีย์"
          สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จไปประทับอยู่ในที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์แล้วทรง จงกรมอยู่ ณ ที่ตรงนั้นตลอด ๗ วัน
ซึ่งต่อมาเรียกที่ตรงนั้นว่า "จงกรมเจดีย์"
          สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิ ธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ที่ประทับขัดสมาธิเพชร ต่อมาเรียกว่า"รัตนฆรเจดีย์"
          สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธ อยู่ตลอด ๗ วัน ในระหว่างนั้น
ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์
          สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้จิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอด ๗ วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา
พญานาคมาวงขดล้อมพระองค์ และแผ่พังพานบังฝนให้พระองค์ ทรงเปล่งพระอุทาน สรรเสริญความสงัด และความไม่เบียดเบียนกันว่า เป็นสุขในโลก
          สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้เกดเสวยวิมุตติ สุขตลอด ๗ วัน มีพาณิช ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงนำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียง กรังของตนเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว สองพาณิชก็ประกาศตนเป็นอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรก ในประวัติกาล ทรงพิจารณาสัตว์โลกเมื่อล่วงสัปดาห์ที่ ๗ แล้ว พระองค์เสด็จกลับมา ประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธอีก ทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จีงท้อพระทัยที่สอนสัตว์ แต่อาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี ตอนนี้แสดงถึงบุคคล ๔ เหล่า เปรียบกับดอกบัว ๔ ประเภท คือ
          ๑. อุคฆติตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สอนสั่ง สอนเปรียบเทียบ เหมือนดอกบัว ที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานในเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น
          ๒. วิปัจจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านขยายความย่อให้พิสดาร ออกไปเปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้ง อยู่เสมอระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขี้น
          ๓. เนยยะ ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรม วิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัว ที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ แต่จะโผล่แล้วบานขี้นในวันต่อๆ ไป  
         ๔. ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่อง แล้วก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเปือกตมรัง แต่จะเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอน ทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ท่านเหล่านี้ก็หาบุญไม่เสียแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ปัญจวัคคีย์ จีงทรงตัดสินพระทัยว่า ควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วก็เสด็จ ออกเดินไปจากควงไม้ไทรนั้น มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี การที่เสด็จเดินทางจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสีเช่นนี้ แสดงให้เห็น เพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าเป็นการตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็น พวกแรกอย่างแทัจริง หนทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้น ในปัจจุบัน ถ้าไปทางรถไฟก็เป็นเวลา ๗-๘ชั่วโมง การเสด็จดำเนิน ด้วยพระบาทเปล่า อาจใช้เวลาตั้งหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะนั้นเอง พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสีอันเป็นที่อยู่แห่งปัจจวัคคีย์พอเสด็จเข้าราวป่าพวกปัญจจวัคคีย์นั้น ได้เห็นจึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ และไม่รับบาตรจีวรจะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าพระองค์ กลายเป็นคนมีความมักมาก หมดความเพียรเสียแล้ว พอพระองค์เสด็จถึง ต่างก็พูดกับพระองค์โดยไม่เคารพ พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้แล้วจะแสดงธรรมสั่งสอน ให้ฟังพราหมณ์ทั้ง ๕ ก็พากันคัดค้านลำเลิกด้วยถ้อยคำต่างๆ ที่สุดพระองค์จึงทรงแจงเตือนให้รำลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาในหนหลังบ้างหรือ ? พราหมณ์ทั้ง๕ ระลึกได้ ต่างก็สงบตั้งใจฟังธรรมทันที ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับแรมอยู่กับพราหมณ์ทั้ง ๕ รุ่งขี้นวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ พระองค์ทรงเริ่มแสดงธัมมะ-จักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นั้น โดยใจความคือทรงยกที่สุด ๒ ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตน ให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้ง ๒ นี้นับว่า เป็นของเลวทราม ไม่ควรเสพเฉพาะ ทางสายกลางเท่านั้น เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่
          ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
          ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
          ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
          ๔. สัมมากัมมัตนะ ทำการงานชอบ
          ๕. สัมมอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
          ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
          ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
          ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
สรุปด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่
          ๑. ทุกข์ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
          ๒. สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
          ๓. นิโรธความดับทุกข์
          ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
                    ชี้ให้เห็นโดยปริวรรตและอาการต่างๆ ว่า เมื่อรู้แล้วอาจยืนยันได้ว่า ตรัสรู้โดยชอบ ถึงความหลุดพ้น และสุดชาติสุดภพแน่นอน ขณะที่พระองค์ ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตามจนเกิด "ธรรมจักษุ" คือดวงตาเห็นธรรม ขึ้นทางปัญญาพระองค์ทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า "อัญญสิๆ" "อัญญสิๆ" (โกณฑัญญะรู้แล้วๆ) เพราะพระองค์ทรงอุทานนี้ ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" แต่นั้นก็ทูลขอบรรพชา พระองค์ประทานอนุญาตด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์





ความหมาย



           “อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึก ถึงเหตุการณ์สำคัญ ในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

           ๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
           ๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
           ๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
           ๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
           ๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)



          ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

 
การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชา



การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ

          1. พิธีหลวง
          2. พิธีราษฎร์
          3. พิธีสงฆ์

          สำหรับพิธีหลวงและพิธีราษฎร์นั้น มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา คือ มีการถือศีล ปฏิบัติธรรม เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น จะมีเปลี่ยนแปลง เฉพาะการกล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของวันสำคัญนี้

          ในส่วนของพิธีสงฆ์ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการสวดมนต์ทำวัตรเย็นหรือตอนค่ำ แล้วสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร หรือ พิธีการอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่ทางวัดจะเป็นผู้กำหนด และมีพิธีเวียนเทียน เช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา


 
คำถวายดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา




         ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, สัตเตสุ การุญญัง ปฏิจจะ กรุณายะโก, หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ, อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง, อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง, อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตะวา, จัตตาริ อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิ ฯ ตัสมิญจะ โข สะมะเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข, อายัสมา อัญญาโกณฑัญโญ, ภะคะวะโต ธัมมัง สุตะวา, วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตะวา, ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง, สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ, ภะคะวันตัง อุปะสัมสะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย อะริยะสาวะกะสังโฆ โลโก ปะฐะนัง อะโหสิ พุทธะระตะนังธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง สังฆะระคะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิฯ มะยัง โข ตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะกาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะอุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปุณณะกาละสัมมะตัญญจะ ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (อิมัง พุทธะปะฏิมัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานาฯ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเค สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ


คำแปล


         เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแล้ว ว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจซึ่งพระธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ทรงอาศัยความการุณ ในสัตว์ทั้งหลาย ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัย ความเอ็นดู ได้ยังพระธรรม จักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสีในวันอาสาฬหปุณณมี อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา" จึงทูลขออุปสมบท กะพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นองค์แรกในโลก อนึ่ง ในสมัยนั้นแลพระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก บัดนี้ เราทั้งหลาายแล มาประจวบมงคลสมัยอาสาฬหะปุณณมี วันเพ็ญอาสาฬหมาส ที่รู้พร้อมกันว่า เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศพระธรรมจักร เป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่ประรัตนตรัยสมบูรณ์ด คือ ครบ ๓ รัตนะ จึงมา ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตาม ความเป็นจริงทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จจักทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบซึ่งพระสถูป (พระพุทธปฏิมา) นี้ บูชาอยู่ด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ยังปรากฎอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับเครื่องสักการะ อันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ







วันสำคัญอื่นๆ
- วันลอยกระทง
- วันพ่อแห่งชาติ
- วันคริสต์มาส
- วันขึ้นปีใหม่
- วันครู
- วันวาเลนไทน์
- วันสงกรานต์
- วันสุนทรภู่





กลอน , เกมส์ , ดูดวง , อาหารเพื่อสุขภาพ , แชท , ฟังวิทยุออนไลน์ , ดูทีวีออนไลน์ , เรื่องตลก , เรื่องผี , ตัวอย่างหนัง , หาเพื่อน , มุม msn , วันสำคัญ , รวมของฟรี , อีการ์ด , อ่านข่าว , มือถือ , ทำนายฝัน , วัดความเร็วเน็ต , รถยนต์ , วอลล์เปเปอร์ , รูปการ์ตูน , เซียมซี , ชื่อมงคล , เนื้อเพลง , คอมพิวเตอร์ , อินเตอร์เน็ต , จัดอันดับเว็บไซต์ , เที่ยวเชียงราย , ปรับขนาดรูป , พยากรณ์อากาศ , ราคาน้ำมัน , ราคาก๊าซหุงต้ม , Hi5 , ผู้หญิง , ท่องเที่ยว , พระเครื่อง , แปลศัพท์ , โปรโมทเว็บฟรี
ลิงค์แนะนำ






- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)