ครูบาเจ้าศรีวิไชย ครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาศรีวิไชย ครูบาศรีวิชัย ประวัติครูบาศรีวิชัย

ครูบาศรีวิชัย หรือ ครูบาศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนา (อาณาจักรล้านนา) ครูบาศรีวิชัยถือกำเนิดที่ ต.บ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง บิดาจึงให้นามว่า “ฟ้าร้อง”

ครูบาศรีวิชัย ชื่อเดิมว่า อินเฟือน เกิดวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิไชย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย และ นางอุสา เป็นคนที่ 3 มีพี่ชาย 2 คน น้องสาว 2 คน บรรพชาครั้งแรกเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 18 ปี ต่อมาปี พ.ศ. 2443 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับฉายาว่า สิริวิชโยภิกขุ มีนามญัติว่า ศรีวิไชย แต่ชาวบ้านเรียกท่านว่า ตุเจ้าบ้านปาง คนเมืองเหนือเรียกพระภิกษุว่า ตุเจ้า

วัยเด็กนั้นชอบเข้าวัดและทำตัวแบบพระคือ ชอบห่มผ้าคล้ายพระและสั่งสอนให้พวกพ้องละการทำบาป บางครั้งถึงกับถูกเพื่อนต่อยตีเพราะไปช่วยสัตว์ที่เพื่อนจับมา

ท่านเคร่งครัดต่อศีลาจารวัตร ไม่เสพหมากพลู เมี่ยง บุหรี่ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารมื้อเดียว เป็นผู้มีความคิดแนวอนุรักษ์ ยึดมั่นในหลักปฏิบัติตามประเพณีนิยมของไทยเหนือแบบลานนา ไม่ส่งเสริมให้งมงายในไสยศาสตร์ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของหลักธรรม แรกเริ่ม ท่านได้เดินธุดงค์รอนแรมปักกลดในหมู่ชาวกระเหรี่ยงและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้น ให้ละเว้นจากการถือผีและหันมานับถือและปฏิบัตตนตามวิถีของศาสนาพุทธ เพื่อที่จะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีผู้คนเข้าเป็นศานุศิษย์ นับถือศาสนาพุทธและเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก ท่านยังให้ความรู้ความเข้าใจหลักสาธารณสุข แจกหยูกยาให้ห่างจากหมอผี จึงเป็นที่รักใคร่และเคารพนับถือของชาวบ้าน ชาวกระเหรี่ยงและชาวเขาในเขตุอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ความที่ท่านยึดแนวคิดและปฏิบัติตามจารีตเดิมของลานนา ซึ่งพระผู้นำอาวุโสฯ ย่อมสามารถสร้างศานุศิษย์ด้วยการบวชให้ ซึ่งขัดต่อหลักปฏิรูปศาสนาของส่วนกลาง จึงมีปัญหากับเจ้าคณะอำเภอบ้านโฮ่งซึ่งเป็นพระปกครองแต่งตั้งโดยคณะสงฆ์ส่วนกลาง และนายอำเภอบ้านโฮ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พระศรีวิไชยต้องอธิกรณ์ ถูกกล่าวหาว่า ทำการบวช อุปสมบทสามเณรและพระภิกษุจำนวนมากโดยไม่มีใบอนุญาต เป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ หัวแข็งดื้อดึงไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวงลี้ อันเป็นท้องที่ ที่วัดบ้านปางตั้งอยู่ ไม่เข้าร่วมประชุมรับรู้คำชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ไม่ร่วมสมโภชณ์จุดประทีปโคมไฟ ตีฆ้องกลอง วันพิธีบรมราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมแสดงจำนวนบัญชีพระภิกษุสงฆ์สามเณรในวัดต่อเจ้าคณะแขวง อวดตัวทำตนเป็นผู้วิเศษ ปฎิบัติตนนอกกฏหมาย ถูกกักตัวเพื่อไต่สวนหลายครั้ง แต่ละครั้งทางการท้องถิ่นไม่สามารถเอาผิดท่านได้ กลับทำให้ศรัทธาของชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายสงฆ์และฝ่ายปกครองของจังหวัดลำพูนเป็นอันมาก ต่างเกรงกลัวต่อมวลชลที่ให้ความเคารพ ศรัทธา และยึดมั่นในหลักปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมแบบลานนา พระศรีวิไชยจึงถูกขับออกจากจังหวัดลำพูน และนำตัวไปกักที่วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรอการไต่สวนของเจ้าคณะมณฑล ระหว่างถูกกักตัวที่เชียงใหม่นั้น มีชาวเชียงใหม่ และชาวจังหวัดใกล้เคียง ชาวบ้าน ชาวเขาที่ทราบข่าวต่างนำข้าวของมาทำบุญและถวายเป็นจำนวนมาก แม้นจะถูกห้ามปรามขัดขวางจากทางราชการอย่างไร จำนวนผู้มาทำบุญก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังความกริ่งเกรงจากทางราชการฝ่ายปกครอง พระศรีวิไชยจึงถูกยัดข้อหาซ่องสุมผู้คน เป็นผีบุญ และถูกควบคุมตัวอย่างแน่นหนาขึ้นรถไฟนำตัวไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ

ผลจากการไต่สวน พระศรีวิไชยพ้นความผิดจากข้อหาอธิกรณ์ทั้งปวง มีสิทธิที่จะกลับไปจำพรรษา ณ วัดบ้านปาง หรือวัดอื่นใดที่ปรารถนาได้ทั้งสิ้น แต่มีข้อแม้ว่าถ้าหากพระศรีวิไชยจะกลับไปจำพรรษา ณ วัดบ้านปาง พระศรีวิไชยต้องได้รับตำแหน่งเจ้าอธิการวัด พระศรีวิไชยได้รับความเมตตา และโอวาทในการปฏิบัติตนจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราช และได้พระราชทานเงินแก่พระศรีวิไชยจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเดินทางกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดลำพูน

ระหว่างที่พระศรีวิไชยอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรอการไต่สวน หนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ฉบับรายวัน ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๖๓ รายงานข่าว ความว่า

ข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเดิมมีพระรูปหนึ่งชื่อว่า พระศรีวิไชย อายุได้ ๔๒ ปี เป็นอธิการอยู่ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เคร่งในทางวิปัสสนา ฉันผลไม้และผักต้มกับเกลือ พริกไทย วันละหน ของคาวถือเป็นของมีวิญญาณท่านไม่ฉัน ถ้าเป็นวันพระแล้วไม่ฉันเลย พระองค์นี้มีหิริโอตะปะ ปราศจากโลภะโมหะ เป็นต้น เช่นมีผู้นำเงินทอง เครื่องบริโภคไปทำบุญกับท่าน ๆ ก็ทำต่อ มิได้เอาไว้ทำประโยชน์ส่วนตัวเลย และมีผู้นิยมนับถือไปทำบุญแก่ท่านมาก

เมื่อประมาณ ๕ ปีมานี้ พระองค์นี้บวชนาค ได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปขออนุญาตต่อนายอำเภอ ๆ บอกให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเตรียมการที่จะบวชนาคไว้ จะได้ทำใบอนุญาตให้ต่อเมื่อภายหลัง แล้วพระองค์นี้ก็จัดการเตรียมใว้เสร็จแล้ว พอจวนจะเข้าพรรษาถึงเวลาบวชได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปขอรับใบอนุญาต แต่กรมการอำเภอหาได้ออกใบอนุญาตให้ไม่ พระองค์นี้เห็นว่าการบวชคงไม่ผิดอะไรนัก ทั้งเป็นเวลาจวนเข้าพรรษา จึงเข้าบวชนาคไปโดยลำพัง ทีนี้เจ้าคณะสงฆ์และกรมการอำเภอหาว่าพระศรีวิไชยบวชนาคไม่ได้รับอนุญาต จึงได้รับเอาตัวพระศรีวิไชยไปกักขังใว้ที่วัดหลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัย) ลำพูน ๑ ปี แล้วไม่ให้เป็นเจ้าอธิการวัดบ้านปาง เพียงแต่ให้อาศัยอยู่ที่วัดบ้านปางตามเดิมเท่านั้น

ครั้นเมื่อต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ กรมการได้ไปสำรวจที่วัดบ้านปาง ได้บอกกับพระศรีวิไชย ๆ ตอบว่าอาตมาไม่ได้เป็นเจ้าอธิการ เมื่อจะสำรวจอย่างไรเอาเองตามใจชอบ พระและสามเณรวัดบ้านปางมีความกลัว จึงพากันหลบหนีเข้าป่าไปบ้าง กรมการอำเภอสำรวจไม่ได้ก็รายงานบอกว่า พระเณรหลบหนีไปด้วยเหตุอันใดไม่แจ้ง ไต่สวนไม่ได้ความ แล้วคณะสงฆ์ลำพูนมีคำสั่งให้พระศรีวิไชยนำเอาพระเณรที่อยู่ในวัดบ้านปางไปที่เจ้าคณะหมวดให้หมดวัด ถ้าไม่มีใครรักษาวัดให้ฝากใว้กับชาวบ้าน ถ้าไม่ได้ตามคำสั่งจะลงโทษ ทีนี้พระศรีวิไชยไม่ได้เป็นเจ้าอธิการและไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับพระเณรไปหาเจ้าคณะได้ และไม่ได้ชี้แจงเหตุผลให้เจ้าคณะทราบ โดยเหตุระยะทางที่จะไปหาเจ้าคณะต้องรอนแรมถึง ๓ คืน ทีนี้เจ้าคณะสงฆ์ลำพูนได้มีคำสั่งไม่ให้พระศรีวิไชยอยู่ในจังหวัดลำพูนต่อไป แล้วเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้นิมนต์เอาพระศรีวิไชยเข้าไปรับไทยทานในจังหวัดลำพูน พระศรีวิไชยมีโอกาสอันดีจึงจัดข้าวของสำหรับทำบุญ เพื่อที่จะได้เข้าไปทำบุญในวัดหลวง จังหวัดลำพูน และพระเณรอุบาสกอุบาสิกามีใจศรัทธา จึงได้จัดของไทยทานตามพระศรีวิไชยเข้าไปทำบุญประมาณ ๖๐๐ คน ครั้นไปถึงจังหวัดลำพูน พวกข้าราชการในจังหวัดลำพูนสงสัยว่าเป็นกบฏ และพวกเจ้าคณะสงฆ์หาว่าพระองค์นี้มีความผิด จึงจับตัวพระศรีวิไชยกักขังใว้ที่วัดหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อนายพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราช ไปตรวจราชการที่จังหวัดลำพูน จึงเอาตัวไปกักขังใว้ที่วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ ประจวบกับพระมหานายกขึ้นไปสอบไล่พระธรรมวินัย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เรียกเอาพระศรีวิไชยไปไต่สวน เสร็จแล้วเห็นว่าไม่มีความผิดแต่ความรู้ยังบกพร่องอยู่บ้าง จึงให้พระศรีวิไชยทำทัณฑ์บน ยอมเล่าเรียนในสำนักใด แล้วแต่พระครูและเจ้าคณะจะเห็นสมควร เมื่อพระศรีวิไชยทำทัณฑ์บนใว้แล้ว พระครูและเจ้าคณะก็หาจัดการให้พระศรีวิไชยไปอยู่สำนักใดไม่ เลยเอาตัวไปกักขังใว้ที่วัดศรีดอนไชย และจัดให้คนคอยควบคุมคอยตรวจจับอาการของพระศรีวิไชยว่า จะมีเวทย์มนต์หรืออภินิหารอย่างไรบ้างจึงมีผู้นิยมนับถือมาก แต่ก็หามีอาการแปลกประหลาดอย่างไรไม่ ในระหว่างที่พระศรีวิไชยถูกกักขังและมีผู้ควบคุมอยู่ ๒ เดือนเศษ นั้น มีพวกแขกชาวอินเดีย และ พวกพม่า พวกตองซู่ พวกกระเหรี่ยงลำพูน เมืองตาก แม่ฮ่องสอน เมืองปาย เมืองพร้าว เชียงดาว พากันไปทำบุญแก่พระศรีวิไชยวันละหลายร้อยคน เสมอทุกวันเป็นเนืองนิจมิได้ขาด อยู่มาวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นายพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราช มีรับสั่งให้ หลวงประสานคดีชน คุมเอาพระศรีวิไชยลงไปกรุงเทพฯ

เมื่อมีผู้นิยมนับถือพระองค์นี้มากขึ้นเช่นนี้ เชื่อแน่ว่าทางราชการคงมีความยินดีรับรองเอาพระองค์นี้ใว้แนะนำสั่งสอนให้มีความรู้ทางพุทธศาสนาให้ช่ำชองดี แล้วจัดส่งให้ขึ้นไปสั่งสอนที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สั่งสอนในทางพุทธศาสนาต่อไป โดยเหตุว่ามีผู้นิยมนับถือพระองค์นี้มาก ตัวอย่างเช่นชาวต่างประเทศเขาก็ต้องการเลือกหาคนดี ที่มีผู้นิยมนับถือมาตั้งหัวหน้า ไปเที่ยวสอนให้ราษฎรรู้จักบาปบุญคุณโทษ และกลับไปเป็นพลเมืองดีต่อไป

อีกประการหนึ่ง เมื่อกรมการอำเภอจัดตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน เรียกลูกบ้านราษฎรหมู่มากเห็นสมควร จึงตั้งผู้ใดเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ กรรมการอำเภอก็จะจัดตั้งผู้นั้นเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านตามความเห็นของราษฎรหมู่มาก นี่พระศรีวิไชยนี้ มีผู้นิยมนับถือทั่วไปทั้งมณฑลพายัพ ถ้าจะนับเปอร์เซ็นต์ก็มีผู้นิยมท่านถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์เศษ เช่นนี้ ควรทางราชการจะรับรองไว้ ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์นี้ขึ้นไปสั่งสอนอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เชื่อว่าพลเมืองที่ประพฤติตนในทางทุจริต คือปล้นฆ่าฟันกันตายคงจะเบาบางลงแน่

แต่ขอกระซิบ ไม่ควรเชื่อถือซึ่งถ้อยคำของพระภิกษุบางองค์ในมณฑลพายัพ ที่คอยยุแหย่ว่าพระศรีวิไชยคิดกบฏต่อพระศาสนา พระมหากษัตย์ หรือขัดขืนอะไรต่างๆ นั้น เป็นอันไม่จริงทั้งสิ้น บางที่เขาจะเกรงว่าทางราชการจะตั้งให้พระศรีวิไชยเป็นใหญ่ และเกรงว่าจะขาดลาภยศไป ขอให้นึกดู ผู้มีความรู้และความเฉลียวฉลาดอย่างนี้ ถ้าจะแต่งตั้งเอาไว้ให้เที่ยวสั่งสอนผู้คนก็คงจะดีไม่น้อย และขอให้เข้าใจว่า ข้าราชการที่ประพฤติชั่ว ความชั่วนั้นราษฎรรู้เข้าก่อนทางราชการ ภรรยาที่มีชู้ก็พวกชาวบ้านเห็นก่อน ราษฎรทั้งมณฑลเห็นดี แล้วทางราชการจะไม่เห็นดีด้วยบ้างหรือ ? หวังว่าท่านบรรณาธิการคงจะช่วยตะโกนผู้ใหญ่ให้รู้ด้วยเพื่อเป็นทางดำริต่อไป

ข้อความข่าวหนังสือพิมพ์ข้างต้นนี้ มีผลต่อการตัดสิน ชี้ชะตา พระศรีวิไชย ถ้าไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ในมือของคณะกรรมการไต่สวนที่กรุงเทพฯ คงมีแต่เอกสารสำนวนข้อกล่าวหาจากคณะสงฆ์มณฑลพายัพ พระศรีวิไชยก็คงจะกลับไปเป็นชาวบ้านใช้ชื่อเดิม นายอินเฟือน เลี้ยงควาย ทำนาปลูกข้าวที่บ้านปาง ไม่มีใครไปทำถนนขึ้นดอยสุเทพ วัดร้างก็ร้างไป วัดที่เก่าก็ผุพังไป หมู่บ้านที่ห่างไกลคงไม่มีสะพาน ไม่มีถนน ฯลฯ แต่หนังสื่อพิมพ์ฉบับนี้เห็นความอยุติธรรม จึงช่วยเป็นปากเสียง ปกป้องความดีของพระบ้านนอกผู้ไร้สมณศักดิ์ ไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ได้รับพัดยศ หรือตำแหน่งทางคณะสงฆ์ใดๆ ไม่มีพวกพ้องที่มากบารมี …… ให้พระศรีวิไชยได้รับศักดิ์ศรีกลับคืนมาบนความถูกต้องและยุติธรรม

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระศรีวิไชยได้จัดเครื่องไทยทานไปถวายสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสมเด็จพระสังฆราชฯ จัดเครื่องไทยทานไปถวายเจ้าคณะแขวงลี้ เจ้าคณะเมืองและรอง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ ละจากการบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากรรมฐาน เป็นออกธุดงค์ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ปฏิรูปตนเองเป็นพระนักพัฒนา รับนิมนต์บูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้าง วัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ทั่วลานนา ในแต่ละแห่งที่มีผู้นิมนต์จะมีประชาชนเข้าร่วมอนุโมทนา บริจาคทรัพย์ สละเวลา ร่วมแรง มาพร้อมเครื่องมือที่จำเป็น ทั้งชาวเมืองและชาวเขาอย่างล้นหลาม จึงเป็นที่นิยมชมชอบและรักใคร่ของหมู่ชนชาวเหนือ ไม่ว่า คนเมือง พม่า ไทยใหญ่ ชาวเขา ต่างขนานนามท่านว่า ครูบาศรีวิไชย (คำว่า “ครูบา” คือเกียรติคุณอันสูงส่งของผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิต ชาวเหนือใช้เรียกพระภิกษุที่แก่พรรษา บวชเรียนมานาน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้าน ไม่ว่าจะมีสมณศักดิ์หรือไม่) ทุกแห่งที่มีกิจนิมนต์ถูกร้องขอให้ไป ครูบาศรีวิไชยจะนั่งปรกเป็นประธานการบูรณะปฏิสังขรณ์ และเทศนาธรรมให้ชาวบ้านฟังจนกว่างานนั้นๆ แล้วเสร็จ การนั่งกับที่นานๆ นี้ ก่อให้เกิดริดสีดวงทวาร กลายเป็นโรคประจำตัวบั่นทอนสุขภาพ

สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ
ภาพจาก huglanna.com

ผลงานยิ่งใหญ่คือ เป็นประธานตัดถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ได้ฤกษ์ลงมือขุดจอบแรก วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ใช้เวลาก่อสร้าง 5 เดือน 22 วัน ได้ระยะทาง 11 กิโลเมตร 530 เมตร ระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพนี้ได้กำหนดให้มีสำนักสงฆ์ใว้เพื่อสำหรับผู้พำนักจักได้ช่วยดูแลรักษาถนน คือสำนักสงฆ์โสดา สำนักสงฆ์สกิทา เหล่าบุตรหลานของผู้ร่วมสร้างทางจำนวนมากได้ขอให้ครูบาศรีวิไชยบวชให้เพื่อจะได้เป็นลูกศิษย์อยู่ประจำสำนักสงฆ์ฯ ดังกล่าว ซึ่งครูบาศรีวิไชยก็ได้จัดการให้ตามประสงค์ ทำให้มีสามเณรและพระภิกษุจำนวนนับร้อยรูป เคารพนับถือประพฤติปฏิบิติตนตามแบบครูบาศรีวิไชย ซึ่งมิได้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ เสมือนนิกายใหม่ ถือสันโดษไม่ยุ่งเกี่ยวกับคณะอื่นใด โดยที่ครูบาศรีวิไชยมีชื่อเสียงได้รับความนิยมชมชอบจากคนหมู่มาก จึงมีวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและใกล้เคียงกว่า 60 วัด ขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ของเมืองที่วัดนั้น ๆ ตั้งและสังกัดอยู่ มาขอขึ้นกับครูบาศรีวิไชย ด้วยเหตุนี้ เมื่อถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพแล้วเสร็จไม่กี่วัน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 ขณะนั้นครูบาศรีวิไชยจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ ก็ถูกคณะสงฆ์จ้งหวัดเชียงใหม่เรียกตัวมาสอบสวน โดยมีเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานการไต่สวนความผิด ข้อหา ฝ่าฝืนการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ ตั้งตนเป็นผู้ปกครองเหล่าเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ เอง ก่อสร้างบูรณะสถานที่ต่าง ๆโดยไม่ได้รับอนุญาต ครูบาศรีวิไชยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ในขณะเดียวกัน ครูบาศรีวิไชยได้ขอให้ เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ และหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) ช่วยเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ท่านทั้งสองไม่มา ทั้งที่เป็นผู้นิมนต์ให้ครูบาศรีวิไชยมาช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนะสถานในเมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์นี้ยังความแคลงใจแก่ชาวเชียงใหม่ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าเกินกำลังที่จะสอบสวน จึงส่งเรื่องให้เจ้าคณะมณฑลพายัพทำเรื่องส่งตัวครูบาศรีวิไชยไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจแก่ชาวเชียงใหม่มากขึ้น

มหาเถรสมาคมได้มีหนังสือถีงคณะมณฑลพายัพให้ส่งตัวครูบาศรีวิไชย วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ไปรับการไต่สวนที่กรุงเทพฯ ๆ ซึ่งครูบาศรีวิไชยได้พำนักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเหมือนการถูกไต่สวนเช่นครั้งแรก ต้องอธิกรณ์ครั้งนี้รุนแรงมาก จึงถูกกักตัวใว้นานเพื่อให้คณะสงฆ์เชียงใหม่ ลำพูน และหัวเมืองอื่น ๆ ได้มีเวลาจัดการกำหลาบ เหล่าเจ้าอาวาสและสงฆ์ที่กระด้างกระเดื่องให้สมัครใจเข้าอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ให้เรียบร้อยเสียก่อน การถูกกักตัวนานนี้ยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวเชียงใหม่และคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองรุนแรงมากยิ่งขึ้น มหาเถรสมาคมต้องออกแถลงการณ์รับรองว่า จะรีบส่งตัวครูบาศรีวิไชยกลับคืนเชียงใหม่โดยเร็ว เมื่อครูบาศรีวิไชยได้รับการอบรมศึกษา เกี่ยวกับพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์เรียบร้อยแล้วเสียก่อน การนี้ครูบาศรีวิไชยถูกบังคับลงนามรับคำสั่งข้อบังคับต่าง ๆ หลายข้อ รวมเวลาถูกกักตัว 6 เดือน 17 วัน จึงได้ถูกส่งตัวเดินทางกลับบ้านเกิด เมืองลำพูน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 และได้มรณภาพอีก 2 ปีต่อมา

บั้นปลายของชีวิตต้องเก็บตัว ละเลิก ไม่มีกิจกรรมใดๆ มีชีวิตที่เงียบเหงา ต้องระทมทุกข์จากโรคประจำตัว ริดสีดวงทวาร พักรักษาตัวที่บ้านเกิด ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ไม่ยอมหวนคืนสู่เมืองเชียงใหม่อีกเลย ทั้งที่ถูกนิมนต์ร้องขอจากหลวงศรีประกาศ และบุคคลอื่นฯ หลายครั้ง

ครูบาศรีวิไชย มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ สิริอายุได้ 59 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพฯ มาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489

ครูบาศรีวิไชยไม่เคยสร้างหรือแจกวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังใดๆ เหรียญจัดสร้างโดยคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน สร้างบล๊อคและผลิตที่กรุงเทพฯ โดยร้านอัมราภรณ์ เข้าพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 โดยพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายองค์ ณ วัดราชบพิธ กรุงเทพฯ เพื่อหาทุนใช้จ่ายงานศพครูบาศรีวิไชย สำหรับผู้ศรัทธา ในราคาเหรียญละ 25 สตางค์ เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีของนักบุญแห่งลานนาในวันพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิไชย

กล่าวสำหรับวัตถุมงคลเหรียญครูบาศรีวิชัยที่นิยมเล่นหาในวงการพระเครื่องนั้น เป็นเหรียญที่คณะศิษย์จัดสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเพื่อแจกในงานฌาปนกิจ โดยได้สร้างจากกรุงเทพฯ แล้วนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพระรูปหล่อของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธ มีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ

1.เหรียญรูปไข่ ครูบาศรีวิชัย เท่าที่พบมี 3 เนื้อคือ ฝาบาตร (ทองเหลืองผสม) ทองแดง และเงิน ด้านหน้า เป็นรูปครูบาศรีวิชัยห่มคลุมแบบล้านนา มือทั้งสองประสานกัน มีสายประคำโผล่อออกมา ด้านล่างมีเลขพ.ศ. “๒๔๘๒” มุมเหรียญด้านข้างขวาของท่านมีอักษรไทยว่า “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ส่วนด้านซ้ายของท่านมีอักษรล้านนาจารึกว่า “ครูบาเจ้าศรีวิชัย”

ด้านหน้ามีบล็อกนิยมอยู่ 2 บล็อกคือ จีวร 2 ชาย และ 3 ชาย จีวรที่ว่าคือชายจีวรที่อยู่ระหว่างมือซ้ายกับชายผ้าห่มคลุมด้านซ้ายของท่าน นั่นเอง ด้านหลัง เป็นยันต์ห้า และอักขระ 4 แถว

2.เหรียญเงินลงยาทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ครูบาศรีวิชัย เป็นเหรียญมีหูในตัว ด้านหน้าแบ่งเป็นส่วนๆ ดังนี้ ขอบนอกลงยาสีแดงด้านในสีขาว แถบโบด้านล่างสีน้ำเงิน เรียกว่า “ลงยาราชาวดี” กลางพื้นเหรียญมีรูปครูบาศรีวิชัยที่เป็นการฉลุเป็นชิ้นส่วนมาติดไว้ต่างหาก ในแถบโบมีอักษรไทยระบุนามของท่านว่า “ครูบาเจ้าศรีวิไชย” นอกโบมีเลขพ.ศ. “๒๔๘๒” หูของเหรียญเป็นการใช้เลื่อยฉลุแทนการเจาะด้วยสว่าน ด้านหลังเป็นยันต์ห้า และอักษรขอม 4 แถว

สำหรับเหรียญครูบาศรีชัยทั้ง 2 พิมพ์ แม้จะเป็น “เหรียญตาย” แต่ก็มีคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ และมีราคาเช่าหาสูงถึง “หลักแสน” เพราะกล่าวขวัญว่า มีพุทธคุณดีทางแคล้วคลาดและเมตตาสูง แต่พึงระวังให้ดีเพราะมี “ของเก๊” เพราะทำออกมาก็เยอะเหมือนกัน ผู้ที่สนใจควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนเช่าบูชา

คำไหว้สา ครูบาเจ้าศรีวิชัย

ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่าคาถาดังนี้ ศรีวิชัยชะนะ มหาเถโร สัพพะลาโภ นิรันตะรัง ตะมะหัง สังฆัง สิระสา นะมามิ

คำไหว้สา ครูบาเจ้าศรีวิชัย
อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ